วันที่ 17 พ.ค.63 ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทันที ว่าเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) (ศบค.) มีการประชุมพิจารณา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อยู่ตลอดเพื่อพิจารณาถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) โดยล่าสุดที่ประชุม ศบค. ได้อนุมัติให้มีการผ่อนคลายระยะที่ 2 จากการประเมินการผ่อนคลายระยะที่ 1 พบตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงเป็นลำดับ รวมทั้งความร่วมมือของประชาชนทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ที่สูงมาก จึงทำให้สามารถผ่อนคลายในระยะที่ 2 ตามมา
ส่วนที่มีการเสนอจะให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทันทีนั้น ในสถานการณ์ปัจจุบันอาจจะยังดำเนินการไม่ได้ทันที รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี เข้าใจถึงความเดือดร้อนของประชาชนทุกกลุ่ม ที่ได้รับผลกระทบกับประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่รัฐบาลจำเป็นยังต้องให้คงอยู่ เพราะจากการรายงานของผู้ติดเชื้อไว้รัสโควิด-19 ในแต่ละวันยังมีตัวเลขผู้ติดเชื้อผันผวน แม้บางวันไม่มีผู้ติดเชื้อแต่บางวันยังมีผู้ติดเชื้ออยู่ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องให้สถานการณ์ผู้ติดเชื้อฯ หยุดนิ่งก่อน “เพราะเราต้องรักษาชีวิตประชาชนก่อน”
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับทุกฝ่ายทุกส่วน พร้อมรับฟังคำแนะนำและข้อเสนอ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ แต่การจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในเวลานี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้ แต่เมื่อถึงเวลาและสถานการณ์การแพร่ระบาดสามารถควบคุมได้ดีขึ้น ประกอบกับประชาชนให้ความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง รัฐบาลก็สามารถดำเนินการได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนก็ต้องให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวดด้วย
อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำว่า “ไม่ได้ประวิงเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เพื่อประโยชน์ของตัวเอง หรือต้องการรักษาอำนาจไว้อย่างที่หลายฝ่ายนำไปเป็นประเด็นกล่าวหา รัฐบาลเข้าใจดีว่าวันนี้บ้านเมืองกำลังมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ รัฐบาลก็กำลังดำเนินการแก้ปัญหา และช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในทุกกลุ่ม ที่ได้รับผลกระทบอยู่”
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าในสถานการณ์ขณะนี้ รัฐบาลอยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และร่วมมือกันแก้ปัญหาเพื่อพี่น้องประชาชน และเพื่อเศรษฐกิจไทยจะเดินต่อไปข้างหน้าได้ เช่น ขณะนี้รัฐบาลก็เริ่มผ่อนคลายให้สถานประกอบการหลายแห่ง เริ่มดำเนินกิจกรรมได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขและข้อกำหนดของ ศบค. และเชื่อว่าเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นต่อเนื่อง ทุกธุรกิจและทุกกิจกรรม ก็จะสามารถกลับมาเปิดให้บริการได้เพิ่มขึ้นต่อไป