คนเราเกิดมามีฐานะที่ไม่เท่าเทียมกัน มีความสมบูรณ์ของร่างกายที่ไม่เหมือนกัน มีสังคมรอบตัวที่แตกต่างกัน ถือเป็นต้นทุนชีวิตที่ฟ้าลิขิตให้เป็น ใครโชคดีมีพร้อมทุกอย่างก็มีหน้าที่รักษาให้คงอยู่ต่อไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน ใครโชคดีกว่าต้องขวนขวายหาทางประสบความสำเร็จด้วยตนเองจะเกิดความภาคภูมิใจ เป็นประสบการณ์ที่ประเมินค่าไม่ได้ ยิ่งสำเร็จยากยิ่งมีความภาคภูมิใจ
“แม้ว่าต้นทุนชีวิตจะไม่เท่ากัน แต่ทุกคนก็ได้รับโอกาสมากมายที่ผ่านเข้ามาในชีวิต”
แม้ว่าต้นทุนชีวิตจะไม่เท่ากัน แต่ทุกคนก็ได้รับโอกาสมากมายที่ผ่านเข้ามาในชีวิต หลายคนปล่อยโอกาสผ่านเลยไป หลายคนรีบคว้าโอกาสนั้นไว้ และน้อยคนนักสร้างโอกาสใหม่ขึ้นมาเอง ด้วยการหาความรู้ใหม่ออกจากกรอบเดิมๆ (Comfort Zone) แล้วทดลองลงมือทำทันที ซึ่งการหาความรู้ใหม่ช่วยขยายขีดความสามารถให้เก่งในเรื่องอื่นไปเรื่อยๆ พัดพาโอกาสใหม่เข้ามาในชีวิตตลอดเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จนั่นเอง
(อ่านบทความ 5 นิสัยที่ทำลายรากฐานความรวย)
ความรู้ใหม่มีให้เลือกเรียนรู้กันมากมายนอกเหนือจากชีวิตการทำงานปกติ อาทิเช่น คนที่สนใจเรื่องอาหารก็ศึกษาวิธีการเปิดร้านอาหาร คนที่สนใจเรื่องท่องเที่ยวก็ศึกษาวิธีการเป็นนักเขียนรีวิวเจาะลึกท่องเที่ยว คนที่สนใจเรื่องการเงินก็ศึกษาการลงทุนหุ้นหรืออสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น หลังจากศึกษาจนเข้าใจก็ควรทดลองลงมือทำทันที อย่าปล่อยให้เสียเวลาเสียโอกาสไปเปล่าประโยชน์ โดยเริ่มจากเล็กๆ ก่อนใช้เงินจำนวนไม่มากเมื่อมีความมั่นใจมากขึ้นก็ค่อยขยับขยายกันไป หากสำเร็จก็ถือว่าโชคดีทำการบ้านมาดี หากล้มเหลวก็อย่าเพิ่งท้อแท้ หาทางแก้ไข จำไว้ว่าทุกความสำเร็จย่อมต้องมีอุปสรรคถ้าผ่านมันไปได้จะมีความภาคภูมิใจสุดๆ ไปเลย
“ความรู้ที่ไม่มีสอนในโรงเรียน คือ ความรู้เรื่องการเงินส่วนบุคคล ที่ทำให้รู้จักใช้เงินเป็น มีความฉลาดด้านการเงิน”
ความรู้อย่างหนึ่งที่มีความสำคัญมากแต่โรงเรียนไม่เคยสอน คือ ความรู้เรื่องการเงินส่วนบุคคล (Personal Finance) ที่ทำให้รู้จักใช้เงินเป็น มีความฉลาดด้านการเงิน เป็นเรื่องที่ต้องขวนขวายศึกษากันเอาเอง หลายครั้งจะเห็นข่าวคนทำงานที่ประสบความสำเร็จในอาชีพสูง แต่ล้มเหลวเรื่องการเงินจนชีวิตต้องลำบากมีหนี้สินจำนวนมาก ซึ่งเหตุการณ์นี้จะเจอบ่อยขึ้นตอนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ คนที่สุขภาพการเงินไม่แข็งแรงก็จะได้รับผลกระทบหนัก ดังนั้นจึงควรหาความรู้เรื่องการเงินส่วนบุคคลใส่ตัว เพื่อเป็นเกราะป้องกันความเสี่ยงเกิดปัญหาที่มีสาเหตุจากเงินนั่นเอง
คราวนี้มาทำความรู้จักกับมุมมองการใช้เงินที่แตกต่างกันระหว่าง “หนทางรวย” กับ “หนทางจน” เพื่อให้เห็นภาพแนวทางการใช้เงินที่ควรจะเป็น ผมขอแบ่งมุมมองเป็น 5 ด้าน ดังนี้
มุมมองด้าน | หนทางรวย | หนทางจน |
กำลังทรัพย์ | มีเงินใช้ถาวร | มีเงินใช้ชั่วคราว |
ระดับการใช้ | ใช้เงินน้อยกว่ารายได้ | ใช้เงินมากกว่ารายได้ |
รูปแบบการใช้ | ใช้เงินลงทุนมากกว่าบริโภค | ใช้เงินบริโภคมากกว่าลงทุน |
แนวการใช้ | ใช้เงินสร้างทรัพย์สิน | ใช้เงินสร้างหนี้สิน |
ค่าเสียโอกาส | ใช้เวลาแลกเงิน และเงินแลกเวลา | ใช้เวลาแลกเงินอย่างเดียว |
- ด้านกำลังทรัพย์ จงวางแผนหาเงินและเก็บออมให้มากพอไว้ใช้จ่ายได้เป็นปีๆ ไม่ใช่แค่วันนี้หรือเดือนนี้เท่านั้น เพราะไม่มีใครสามารถคาดอนาคตได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรที่ทำให้มีปัญหาเรื่องเงินไม่พอใช้หรือถึงขั้นไม่มีเงิน
2. ด้านระดับการใช้ จงใช้เงินให้น้อยกว่ารายได้ที่หามาได้ในแต่ละเดือน เพื่อให้มีเงินออมเพิ่มขึ้นทุกเดือน ซึ่งจะทำให้คุณรู้สึกว่ามีความมั่นคงทางการเงินมากขึ้น ไม่ใช่ใช้เงินตามใจชอบจนไม่เหลือเงินเก็บเลย เกิดเงินสะดุดขึ้นมาเมื่อไหร่ชีวิตจะลำบาก
3. ด้านรูปแบบการใช้ จงใช้เงินเก็บที่มีไปกับการลงทุนมากกว่าบริโภค อาทิเช่น เอาเงินเก็บไปซื้อหุ้นปันผลดีกว่าไปซื้อรถคันใหม่ หรือเอาเงินเก็บไปซื้อกองทุนรวมดีกว่าไปซื้อมือถือรุ่นใหม่ การซื้อของไว้ใช้เองถือเป็นการบริโภคต้องดูถึงความจำเป็นไม่ใช่รุ่นใหม่ออกต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ
4. ด้านแนวการใช้ จงใช้เงินสร้างทรัพย์สินดีกว่าเอาเงินไปสร้างหนี้สิน ข้อแตกต่างอยู่ที่ทรัพย์สิน (Asset) ทำให้เกิดผลตอบแทนเป็นบวกมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น แต่หนี้สิน (Debt) ทำให้เกิดผลตอบแทนเป็นลบมีเงินในกระเป๋าน้อยลง อาทิเช่น บ้านให้เช่าถือเป็นทรัพย์สิน ส่วนบ้านอยู่อาศัยเองถือเป็นหนี้สิน ตราบใดที่ยังไม่ได้ขายออกไป ดังนั้นมีบ้านอยู่อาศัยเอง ก็ใช้เงินแต่พอดี จะได้มีเงินเหลือเอาไปลงทุนสร้างสินทรัพย์
5. ด้านค่าเสียโอกาส จงเลือกใช้ให้เหมาะสมทั้งเวลาแลกเงิน และเงินแลกเวลา โดยการเป็นมนุษย์เงินเดือน มีเงินเข้ามาสม่ำเสมอเป็นหลักประกันที่ค่อนข้างมั่นคง แต่เหมือนเอาเวลาส่วนหนึ่งในชีวิตไปแลกกับเงินเดือน ซึ่งทำไม่ได้ตลอดอายุเยอะก็ต้องเลิก คนที่อยากประสบความสำเร็จต้องรู้จักใช้เงินแลกเวลาด้วย เพราะทุกวันมีเวลาจำกัดแค่ 24 ชม. แต่สิ่งที่ต้องทำมีมากมาย ดังนั้นงานบางอย่างควรกระจายออกจ้างคนอื่นมาทำให้ อาทิเช่น เปิดร้านขายของจ้างคนมาช่วยขาย ลงทุนผ่านกองทุนรวมจ้างให้ผู้จัดการกองทุนดูแล ตระเวนหาบ้านที่น่าลงทุนด้วยการว่าจ้างแม่บ้านมาทำความสะอาดแทน เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติม เพลิน