ความคืบหน้ามาตรการเยียวยา 5,000 บาท เงินถึงมือผู้ได้รับผลกระทบแตะ 7.5 ล้านราย และการลงพื้นที่ปฏิบัติงานของผู้พิทักษ์สิทธิกระทรวงการคลัง [กระทรวงการคลัง]
ช่วงวันที่ 8-24 เม.ย.2563 ได้โอนเงินให้ผู้ได้รับสิทธิแล้ว 4.9 ล้านราย คิดเป็นจำนวนเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท ช่วงวันที่ 27-28 เม.ย.2563 มีกำหนดทยอยโอนเงินให้ผู้ได้รับสิทธิอีก 1.5 ล้านราย และวันที่ 29 เม.ย.2563 จะดำเนินการโอนเงินเยียวยาให้อีก 1.1 ล้านราย
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้ามาตรการเยียวยา 5,000 บาท ในช่วงวันที่ 8-24 เมษายน 2563 ได้โอนเงินให้ผู้ได้รับสิทธิแล้ว 4.9 ล้านราย คิดเป็นจำนวนเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท ในช่วงวันที่ 27-28 เมษายน 2563 มีกำหนดทยอยโอนเงินให้ผู้ได้รับสิทธิอีก 1.5 ล้านรายและในวันที่ 29 เมษายน 2563 จะดำเนินการโอนเงินเยียวยาให้อีก 1.1 ล้านราย ซึ่งถือเป็นจำนวนสูงสุดต่อวันตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการ ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 8-29 เมษายน 2563 จะมีผู้ได้รับเงินเยียวยารวม 7.5 ล้านรายคิดเป็นเงิน 3.8 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ มีความคืบหน้าในด้านอื่นที่น่าสนใจ ได้แก่ มีผู้ขอยกเลิกการลงทะเบียน 9.4 แสนราย ขอทบทวนสิทธิ 3.4 ล้านราย ขอสละสิทธิ 1,675 ราย และมีกลุ่มขอข้อมูลเพิ่มเติมจำนวน 6.3 ล้านรายได้เข้ามากรอกแบบสอบถามออนไลน์เรียบร้อยแล้ว 5.2 ล้านราย ยังคงเหลือผู้ไม่มาให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีก 1.1 ล้านราย จึงขอให้เร่งเข้ามากรอกแบบสอบถามที่ www.เราไม่ทิ้งกัน.com เพื่อประโยชน์ในการรับสิทธิจากมาตรการอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ หลังจากที่ได้เปิดให้ผู้ไม่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองมาตรการเยียวยา 5,000 บาท ขอทบทวนสิทธิได้นั้นกระทรวงการคลังได้มอบหมาย “ผู้พิทักษ์สิทธิ” จำนวนกว่า 23,000 คน สับเปลี่ยนลงพื้นที่เพื่อปฏิบัติงานทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2563 เป็นต้นมา ไม่เว้นวันหยุดราชการเพื่อทำหน้าที่ยืนยันตัวตนและตรวจสอบการประกอบอาชีพตามที่ได้ลงทะเบียนไว้ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานสังกัดกระทรวงการคลัง ธนาคารกรุงไทยจำกัด (มหาชน) ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และรวมถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่น ทั้งนี้ ในหลายพื้นที่ผู้พิทักษ์สิทธิได้ร่วมเดินทางไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยด้วยโดยมีขั้นตอนการปฏิบัติงานและหน้าที่ของผู้พิทักษ์สิทธิ ดังนี้
1) ผู้พิทักษ์สิทธิจะโทรศัพท์นัดหมายผู้ทบทวนสิทธิล่วงหน้าทุกราย
2) เมื่อลงพื้นที่ไปพบผู้ทบทวนสิทธิ ผู้พิทักษ์สิทธิจะมีการแสดงตนอย่างชัดเจน(อาจขอให้ผู้พิทักษ์สิทธิแสดงบัตรประจำตัวหรือเอกสารหลักฐานแสดงความเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานได้)
3) จะมีการใช้แอพพลิเคชั่น “ผู้พิทักษ์สิทธิ” ที่ติดตั้งในโทรศัพท์มือถือของฝ่ายเจ้าหน้าที่ เป็นเครื่องมือในการขอยืนยันตัวตนของผู้ทบทวนสิทธิ และถ่ายภาพหลักฐานต่างทุกขั้นตอน
4)ข้อมูลที่สำรวจและจัดเก็บจะถูกส่งตรงจากแอปพลิเคชันกลับมายังฐานข้อมูลของกระทรวงการคลัง เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ ขอความร่วมมือผู้ขอทบทวนสิทธิ ดำเนินการดังต่อไปนี้
1) เมื่อท่านได้ยื่นความประสงค์ขอทวบทวนสิทธิผ่านเว็บไซต์แล้ว ขอให้เตรียมบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง ตลอดจนเอกสารและหลักฐานแสดงการประกอบอาชีพล่วงหน้าให้พร้อม เช่น ภาพถ่ายการประกอบอาชีพตามอาชีพที่ได้ลงทะเบียนไว้ ใบอนุญาตประกอบอาชีพ ภาพถ่ายกับสถานประกอบการ เป็นต้น
2) ผู้พิทักษ์สิทธิมีหน้าที่ยืนยันตัวตนและตรวจสอบการประกอบอาชีพตามที่ได้ลงทะเบียนไว้โดยไม่มีอำนาจพิจารณาคุณสมบัติว่าท่านจะได้รับเงินเยียวยาหรือไม่
อนึ่ง ขอให้ระมัดระวังการแอบอ้างหลอกลวงโดยผู้ไม่หวังดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากท่านไม่ได้ยื่นขอทบทวนสิทธิกระทรวงการคลังจะไม่มีการส่งเจ้าหน้าที่ลงไปนัดหมายพบปะกับท่านแต่อย่างใด
Call Center ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 02-111-1144
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3421, 3422, 3423, 3424, 3425, 3427, 3429, 3430, 3572
(ในวันและเวลาราชการ)