เกษตรกรชาวอำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์รับจ้างเกี่ยวข้าวหลังค่าแรงพุ่งสูงวันละ 350-400 บาท พร้อมเลี้ยงอาหาร 2 มื้อ และเครื่องดื่มตลอดทั้งวัน
วันที่ 20 พ.ย. 62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศฤดูเก็บเกี่ยวข้าวของเกษตรกรในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ โดยช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี เกษตรกรที่ทำนาจะเริ่มพากันเก็บเกี่ยวผลผลิตตลอดทั้งเดือน ซึ่งถือว่าเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ พบว่า ตั้งแต่ตอนนี้ชาวบ้านต่างพากันออกรับจ้างเกี่ยวข้าวกันอย่างคึกคัก เพราะได้ค่าแรงค่าจ้างในการเกี่ยวข้าวสูงถึงวันละ 350-400 บาท/คน/วัน ซึ่งสร้างรายได้อย่างงามให้กับชาวบ้านที่รับจ้างเกี่ยวข้าวในช่วงนี้
ทั้งนี้เนื่องจากเกษตรกรส่วนหนึ่งในพื้นที่ อ.เขาวงยังคงยึดถือวิถีการทำนาแบบดั้งเดิมอยู่ เพื่อให้ได้ผลผลิตข้าวที่มีคุณภาพ และหากอาศัยรถเกี่ยวข้าวก็ต้องรอคิว อีกทั้งค่าบริการไร่ละ 800 บาท ซึ่งหากเป็นที่นาของใครที่ต้นข้าวล้มยิ่งต้องจ่ายแพงไร่ละ 1,000 – 1,200 บาท บางรายไม่รับงานเพราะเกี่ยวยาก ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ อ.เขาวงจึงนิยมจ้างคนเกี่ยวมากว่าการจ้างรถเกี่ยวเพราะการจ้างคนเกี่ยวจะได้ผลิตที่มากกว่า ข้าวไม่ตกหล่น และได้ข้าวที่มีคุณภาพ ซึ่งจะต่างกับการใช่รถเกี่ยว
นายปรีชา พิมพาทอง ชาวบ้านกุดตอแก่น ม. 10 ต.คุ้มเก่า อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ปัจจุบันค่าแรงในการจ้างคนเกี่ยวข้าวเฉลี่ยวันละ 350-400 บาท และเจ้าของที่นาจะต้องเลี้ยงอาหารด้วย 2 มื้อ คือมื้อเช้าและเที่ยง นอกจากนี้ยังมีเครื่องดื่มบริการให้ด้วย เช่น น้ำอัดลม เนื่องจากปัจจุบันแรงงานหายาก เจ้าของที่นาจะต้องเอาใจ อีกทั้งชาวนาหลายรายยังคงยึดถือวิถีชีวิตทำนาแบบเดิม ทั้งนี้หลังจากที่เกี่ยวข้าวเสร็จชาวนาก็จะตากข้าวผึ่งแดดผึ่งลม ประมาณ 3-5 วัน ให้เมล็ดข้าวแห้ง หลังจากนั้นก็จะเก็บข้าว โดยใช้ตอก ซึ่งทำจากไม้ไผ่เหลาเป็นแผ่นบางๆ มัดรวมกัน เพื่อนำไปตีหรือใส่เครื่องสีข้าว
นายปรีชา กล่าวอีกว่า สำหรับการมัดข้าวนั้นก็มีการจ้างคนมัด โดยจะจ้างกันอยู่ที่ตอก 1,000 เส้น ต่อเงิน 400 บาท ถ้าคนไหนที่มีความชำนาญในการมัดข้าวก็จะสามารถสร้างรายได้มากกว่าคนอื่น โดยเฉลี่ยคนที่มีความชำนาญในการมัดข้าววันหนึ่งจะได้1,000 เส้น-1500เส้น คิดเป็นเงินแล้วอยู่ที่400-600บาทต่อวัน แต่บางคนก็นิยมมัดตอนกลางคืนเพราะแดดไม่ร้อน ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างรายได้ให้สำหรับชาวบ้านอย่างงามเลยทีเดียวและเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมการทำนาแบบโบราณไว้ด้วย
ข้อมูลข่าวจาก