โบราณสถานสำคัญอีกที่หนึ่งของ จ.มหาสารคาม สร้างด้วยศิลาแลงเป็นศิลปะขอมแบบบายนรูปกระโจมสี่เหลี่ยม สูงจากพื้นดินถึงยอด ๔ วา กว้าง ๒ วา ๒ ศอก ภายในปราสาท ล้อมรอบด้วยกำแพงสี่เหลี่ยม มีซุ้มประตู มีกู่ปรางค์ประธาน คาดว่าสร้างในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เป็นโรคยาศาล ศาสนาพุทธลัทธิมหายาน ประติมากรรมที่ค้นพบเป็นรูปเคารพหินทราย ๒ องค์ องค์หนึ่งคือ พระพุทธไภษัชยคุรุไวทูรย์ประภา นั่งขัดสมาธิ ประนมมือ ถือสังข์
ลักษณะเด่น: โบราณสถานที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘
ประวัติ: สร้างขึ้นเพื่อเป็นอโรคยาศาล ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เป็นศิลปะขอมแบบบายน ทำด้วยศิลาแลงเป็นรูปกระโจมสี่เหลี่ยม สูงจากพื้นดินถึงยอด ๔ วา กว้าง ๒ วา ๒ ศอก ภายในปราสาท มีเทวรูปทำด้วยดินเผา ๒ องค์ นั่งขัดสมาธิ ประนมมือ ถือสังข์ มีกำแพงทำด้วยศิลาแลงล้อมรอบ โคปุระ ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้มีบรรณาลัย ๑ หลัง มีซุ้มประตูอยู่กึ่งกลางกำแพงแก้ว ด้านหน้าเป็นทางเข้าออกเพียงด้านเดียว ส่วนอีก ๓ ด้าน เป็นประตูหลอก กรอบประตูและทับหลังเป็นหินทราย
ลักษณะรูปแบบศิลปกรรมเป็นกลุ่มอาคาร ประกอบด้วย
๑.ปราสาทประธาน ก่อด้วยศิลาแลงหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีเรือนธาตุเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด ๕x๕ เมตร มีมุขก่อยื่นด้านหน้า ส่วนบนทำเป็นชั้นลดเลียนแบบเรือนธาตุซ้อนกันขึ้นไป ๔ ชั้น
๒.บรรณาลัย อยู่ด้านมุมทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธานหันหน้าไปทางทิศตะวันตก เป็นอาคารศิลาแลงรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด ๖ x ๗.๕๐ เมตร
๓.ประตูซุ้มหรือโคปุระ มีผังรูปกากบาทก่อด้วยศิลาแลง ขนาด ๑๐ x ๑๑ เมตร เพื่อใช้เป็นทางเข้าสู่ศาสนสถาน
๔.กำแพงแก้ว ก่อด้วยศิลาแลง ขนาด ๒๕x๓๗ เมตร ก่อเชื่อมต่อจากประตูซุ้มล้อมรอบปราสาทประธานและบรรณาลัย
นอกจากนี้ยังพบจารึกที่วงกบประตูห้องมุขหน้าของปราสาทประธานเป็นจารึกอักษรขอม ภาษาสันสกฤต จำนวน ๒ บรรทัด อ่านและแปลได้ว่า “ เชิญ / บูชาพระเจ้าที่อยู่ในอาศรม “ กำหนดอายุจากรูปอักษรไว้ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖–๑๗ และยังพบพระพุทธรูปบุเงินบรรจุในไหจำนวนหลายสิบองค์ เป็นศิลปกรรมสมัยวัฒนธรรมล้านช้าง
ที่ต้ัง: ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.บ้านเขวา อ. เมือง จ.มหาสารคาม
เส้นทาง: เดินทางออกจากตัวเมืองมาทางเส้น มหาสารคาม – ร้อยเอ็ด ทางเข้าจะอยู่ทางเข้าซ้ายมือ ให้สังเกตป้าย