เจดีย์หินทราย วัดป่ากุง จ.ร้อยเอ็ด
วัดประชาคมวนาราม หรือ วัดป่ากุง ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีสมเด็จ อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นเจดีย์หินทรายสร้างเลียนแบบเจดีย์บุโรพุทโธ ที่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก โดยพระเทพวิสุทธมงคล (หลวงปู่ศรี มหาวีโร) สร้างด้วยหินธรรมชาติทั้งหลัง เป็นบุโรพุทโธเจดีย์หินทรายแห่งแรกของไทย มีภาพแกสลักที่สวยงาม วิจิครพิสดารน่าชมมาก ภายนอกเป็นพุทธประวัติและพระเวสสันดรชาดก ซึ่งตรงกับงานประเพณีบุญผะเหวดร้อยเอ็ด
“วัดป่ากุง” เป็นวัดร้างเก่าแก่มาตั้งแต่ปี 2313 จนกระทั่งพระเทพวิสุทธิมงคล “หลวงปู่ศรี มหาวีโร” พระเกจิอาจารย์ฝ่ายกัมมัฏฐาน(ปัจจุบันมรณภาพแล้ว) ได้เข้ามาเป็นผู้นำศรัทธาในการพัฒนาวัดและได้ดำเนินการขออนุญาตทางราชการจัดตั้งเป็นวัดขึ้น โดยใช้ชื่อที่ประชาชนร่วมกันสร้างว่า “วัดประชาคมวนาราม” โดยมีหลวงปู่ศรี มหาวีโร เป็นเจ้าอาวาสปกครองและบูรณปฏิสังขรณ์ให้เจริญรุ่งเรืองเป็นต้นมา
เจดีย์หินทราย วัดป่ากุง เป็นสิ่งก่อสร้างที่สวยงาม ลักษณะเป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ ทำจากหินทรายธรรมชาติแห่งแรกในประเทศไทย โดยจำลองแบบการก่อสร้างมาจากบุโรพุทโธ ประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากใน พ.ศ. 2531 หลวงปู่ศรี มหาวีโรได้ไปปฏิบัติศาสนกิจและจำพรรษาที่ประเทศอินโดนีเซีย ได้ไปนมัสการเจดีย์โบโรโดร์(บุโรพุทโธ) ที่เกาะชวาอินโดนีเซีย ได้เห็นความใหญ่โตมโหฬารงดงาม หลวงปู่เกิดความประทับใจมาก เมื่อกลับมาเมืองไทยก็ได้นำเรื่องราวที่ได้ไปพบ มาเล่าให้ศิษยานุศิษย์ฟัง และดำริว่าจะสร้างไว้ที่เมืองไทย
เจดีย์หินทรายนี้ก่อสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ครบรอบ 90 ปี พรรษา 60 ของพระเทพวิสุทธิมงคล “หลวงปู่ศรี มหาวีโร” โดยสร้างด้วยแรงศรัทธาของคณะศิษยานุศิษย์ เสียสละกำลังกาย กำลังทรัพย์ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความสมัครสมานสามัคคี เทิดทูนความดีที่หลวงปู่ศรีได้ประพฤติปฏิบัติและทำงานแข่งกับเวลาให้สำเร็จ โดยทำงานกันทั้งกลางวันกลางคืน จะกระทั่งเสร็จภายใน 2 ปี
เจดีย์มีรูปทรงแปดเหลี่ยม กว้าง 101 เมตร ยาว101 เมตร (กว้างxยาว ตามชื่อจังหวัด) สูง109 เมตร แบ่งเป็น7 ชั้น ตบแต่งด้วยหินทรายธรรมชาติ จากปากช่อง จ. นครราชสีมา
ชั้นที่ 1 เป็นภาพแกะสลักหินทรายเหลืองนูนต่ำเล่าเรื่องราวซึ่งเป็นพระชาติสุดท้ายที่พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญทานบารมี
ชั้นที่ 2-3 เป็นภาพแกะสลักหินทรายเหลืองนูนต่ำ เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติพระพุทธเจ้า
ชั้นที่ 4 ภาพแกะสลักหินทรายเหลืองนูนต่ำรูปชัยมงคลคาถา
ชั้นที่ 5 ผนังทรงกลมฐานรององค์เจดีย์ เป็นภาพสังเวชนียสถาน 4 ตำบล ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน
ชั้นที่ 6 เป็นองค์เจดีย์ราย 8 องค์ และองค์เจดีย์ประธาน 1 องค์ และโดยเฉพาะชั้นที่ 7 ยอดเจดีย์ทองคำ น้ำหนักถึง 101 บาท และภายในองค์เจดีย์ยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่นำมาจากประเทศอินเดียให้พุทธศานิกชนและนักท่องเที่ยวได้กราบไหว้บูชา ขอพรเพื่อเป็นสิริมงคล
มีพระรายล้อมเจดีย์ทั้งหมด 136 องค์ มาจากอินโดนีเซีย
ขอบคุณภาพและข้อมูลดีๆจาก: สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด