นายกรัฐมนตรี ย้ำ บุคลากรทางการแพทย์จะต้องได้รับเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างทั่วถึงและทันการ ขอทุกคนมีขวัญกำลังใจที่ยังเข้มแข็งอยู่เสมอ โดยยึดหลักสุขภาพนำเสรีภาพ
วันนี้ (3 เม.ย. 63) เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาลไวรัสสายพันธุ์ใหม่ “COVID-19” ณ ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงสถานการณ์การติดเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า วานนี้ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจมีสาระสำคัญคือ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข เป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมและรณรงค์ให้ทุกคนอยู่บ้าน เพื่อลดอัตราการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รวมทั้งปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์ ขณะเดียวกัน บุคลากรทางการแพทย์จะต้องได้รับเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ อย่างทั่วถึงและทันการ ไม่ให้เกิดการขาดแคลนในโรงพยาบาลทุกพื้นที่ โดยนายกรัฐมนตรีจะติดตามด้วยตนเอง พร้อมเน้นให้มีขวัญกำลังใจที่ยังเข้มแข็งอยู่เสมอ โดยยึดหลักสุขภาพนำเสรีภาพ ทั้งนี้ ได้มีการประกาศข้อกำหนด ห้ามบุคคลออกนอกเคหะสถาน หรือ เคอร์ฟิว ตั้งแต่เวลา 4 ทุ่ม ถึงตี 4 ทั่วราชอาณาจักร ยกเว้นผู้มีเหตุจำเป็น โดยเริ่มในวันศุกร์ที่ 3 เมษายน 63 พร้อมทั้งขอพี่น้องประชาชนอย่าตื่นตระหนก และไม่ต้องกักตุนสินค้า เพราะยังสามารถออกมาซื้อข้าวของในช่วงเวลากลางวันได้ตามปกติ แต่ต้องเคร่งครัดในเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อลดอัตราการแพร่เชื้อ
จากนั้น โฆษก สบค. ได้รายงานถึงสถานการณ์การติดเชื้อของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลกมีจำนวน 1,014,296 ราย เสียชีวิต 52,298 ราย ขณะที่สหรัฐอเมริกา มีผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 244,230 เป็นอันดับ 1 ของโลก โดยเสียชีวิตจำนวน 5,886 ราย ตามด้วยประเทศอิตาลี ที่มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 115,242 ราย เสียชีวิต 13,915 ราย สเปน มีผู้ติดเชื้อยืนยันสะสม 112,065 ราย เสียชีวิต 10,348 ราย เยอรมนี ผู้ป่วยยืนยันสะสม 84,794 ราย เสียชีวิต 1,107 ราย สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย ขณะนี้มีผู้ป่วยที่หายแล้วจำนวน 581 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,978 ราย มีผู้ป่วยใหม่ 103 ราย และมีผู้เสียชีวิตรวม 19 ราย โดยมีรายละเอียดผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น 4 ราย คือ รายแรก เป็นเพศชาย อายุ 59 ปี อาชีพพนักงานการรถไฟ ไม่มีโรคประจำตัว เริ่มมีอาการไข้ วันที่ 16 มี.ค. 63 หลังจากนั้น วันที่ 21 มี.ค. 63 ได้พบแพทย์ที่โรงพยาบาลบางปะกอก และกลับไปทำงานตามปกติ ผลปรากฏว่าวันที่ 31 มี.ค. 63 เริ่มมีอาการหนัก เหนื่อย หอบ และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่ง พบว่ามีผลการยืนยันการติดเชื้อ จนกระทั่งเสียชีวิตในวันที่ 2 เม.ย. 63 รายที่สอง เป็นเพศชาย อายุ 72 ปี มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน ซึ่งเป็นลูกของผู้ป่วยรายนี้ที่ไปดูมวย และมีอาการป่วย เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ มีโรคประจำตัวเป็นโรคไต เริ่มป่วย วันที่ 16 มี.ค. 63 และเสียชีวิตวันที่ 1 เม.ย. 63 รายที่สาม เป็นเพศชาย อายุ 84 ปี ทำงานสนามมวยราชดำเนิน มีโรคประจำตัว โรคไต ความดันโลหิตสูง เก๊าท์ เข้ารับการรักษาโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค. 63 และเสียชีวิต วันที่ 2 เม.ย. 63 และรายที่สี่ เป็นผู้ป่วยชายไทย อายุ 84 ปี มีประวัติไปสนามมวยราชดำเนิน ก่อนเริ่มป่วยในวันที่ 14 มี.ค. 63 เข้ารับการรักษาในวันที่ 21 มี.ค. 63 ด้วยอาการไข้ 39.3 องศา น้ำมูก ไอ และเสียชีวิตในวันที่ 2 เม.ย. 63 ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ต้องเรียนรู้ ซึ่งพบว่า 3 ใน 4 ของผู้เสียชีวิต อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยกลุ่มอายุที่ต้องเน้นย้ำคือ 20-29 ปี เนื่องจากกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่มีการเดินทาง เคลื่อนย้าย และพบปะสังสรรค์กันเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นกลุ่มที่เสี่ยงที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อได้
โฆษก ศบค. กล่าวถึงผู้ป่วยรายใหม่ทั้ง 103 ราย พบว่า กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 48 ราย แบ่งเป็น สนามมวย 1 ราย สถานบันเทิง 2 ราย พิธีกรรมทางศาสนา ประเทศอินโดนีเซีย 6 ราย และใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 39 ราย นอกจากนี้ จากการประกาศคำบัญชา สั่งการ จากนายกรัฐมนตรี ที่ให้มีการชะลอการเดินทาง ทั้งคนไทยและต่างชาติที่จะเข้าสู่เมืองไทย ซึ่งในขณะนี้ รับทราบมาจากกระทรวงการต่างประเทศแล้วว่า 100 คน จากประเทศอินโดนีเซีย ที่ได้ขออนุญาตไว้แล้วนั้น จะเข้ามาในประเทศไทย วันที่ 7 เม.ย. 63 ซึ่งทางการของประเทศไทยจะมีการจัดเตรียมพื้นที่รองรับ พร้อมทั้งขอความร่วมมือคนจำนวนดังกล่าว รวมถึงประเทศมาเลเซีย อีก 83 รายที่เป็นคนไทยที่ขออนุญาตเข้ามา และกลุ่มของนักเรียน AFS จากสหรัฐอเมริกา โดยทุกคนต้องให้ความร่วมมือในการอยู่ในพื้นที่ที่ทางรัฐบาลจัดไว้ให้ เพราะถือเป็นบุคคลกลุ่มเสี่ยง อย่างไรก็ตาม ต้องขอความร่วมมือจากคนไทยที่อยู่ในประเทศไทย ไม่สร้างความรังเกียจให้แก่กัน ในกลุ่มที่สอง ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยก่อนหน้านี้ 44 ราย แบ่งเป็น คนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ 7 ราย คนต่างชาติที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 8 ราย สัมผัสผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 2 ราย ไปสถานที่ชุมชน เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว 4 ราย อาชีพเสี่ยง เช่น ทำงานในสถานที่แออัด หรือทำงานใกล้ชิดสัมผัสกับชาวต่างชาติ 13 ราย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 5 ราย และอื่น ๆ 5 ราย และกลุ่มที่สาม อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค 11 ราย
ทั้งนี้ จำนวนตัวเลขผู้ป่วยยังคงมีแนวโน้มที่สูงขึ้น โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานครยังคงมีจำนวนตัวเลขที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นที่จะต้องจัดการโดยเร็ว จะต้องให้ความร่วมมือและดูแลกันอย่างดี ขณะที่พื้นที่ในจังหวัดอื่น ๆ ยังมีตัวเลขที่คงที่ ขณะเดียวกันในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตยังมีจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น โดยมีจำนวนผู้ป่วยในอำเภอกะทู้ 45 ราย เมืองภูเก็ต 26 ราย อำเภอถลาง 10 ราย และอำเภออื่น ๆ 19 ราย โดยกลุ่มที่เป็นที่น่ากังวลใจ จำแนกตามปัจจัยเสี่ยง คือ กลุ่มผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ ตามด้วยกลุ่มอาชีพเสี่ยง สถานบันเทิง และคนต่างชาติที่มาจากต่างประเทศ เมื่อเปรียบเทียบในประเทศกลุ่มอาเซียนพบว่า ประเทศไทยยังอยู่ในลำดับที่ 3 จาก 10 ประเทศ อย่างไรก็ตาม เราจะต้องร่วมมือกัน ซึ่งคาดว่าจะทำให้จำนวนตัวเลขผู้ป่วยลดลงได้
โอกาสนี้ พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงการปฏิบัติงานของฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง ท่านผู้บัญชาการทหารสูงสุดในฐานะที่เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ ด้านความมั่นคง ได้หารือเป็นระยะกับผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และปลัดกระทรวงมหาดไทย กำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อรองรับมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลได้ออกมานั้น ได้ข้อสรุปดังนี้ จุดตรวจรอยต่อจังหวัดและ กทม. ปัจจุบันมีทั้งหมด 421 จุด จะมีการปรับ มุ่งเน้นบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้นขึ้นและควบคุมการเดินทางข้ามจังหวัดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ห้ามเดินทางในช่วงเวลาที่กำหนด ยกเว้นเงื่อนไขตามข้อกำหนดบอก เพิ่มจุดตรวจร่วม ชุดเคลื่อนที่เร็ว กระจายตัวเป็นใยแมงมุมทั่วทุกพื้นที่ประเทศไทย จัดจุดตรวจครอบคลุมทุกพื้นที่ เพิ่มสายตรวจในทุกสถานีตำรวจเพื่อให้กระจายไปถึงระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการตรวจสอบ คัดกรอง ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยดูแลอำนวยความสะดวก ในกรณีผู้ฝ่าฝืนข้อกำหนดจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ขอให้ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น รักษาระยะห่างทางสังคม ยกเว้นบุคคลตามข้อยกเว้นที่ได้กำหนดไว้ ถ้ามีความจำเป็นต้องออกจากบ้านหรือเป็นบุคคลตามข้อยกเว้นต้องพกบัตรประชาชน และใบรับรองจากนายจ้าง ผู้ประกอบการ หรือหัวหน้าส่วนราชการ ว่าท่านเป็นใคร สังกัดไหน และมีความจำเป็นอย่างไร ทั้งนี้ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติทราบว่า ในด้านการคมนาคมได้มีการปรับแนวทางการเดินรถให้สอดคล้องกับสถานการณ์ช่วงเคอร์ฟิวแล้ว ฝากพี่น้องประชาชนให้เตรียมตัว ปรับการใช้ชีวิตให้เหมาะสม ขอความร่วมมือให้อยู่แต่ในบ้าน กรณีพบเห็นผู้ที่ไม่ให้ความร่วมมือสามารถแจ้งมาที่ 191 เพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือสายตรวจเข้าไปตรวจสอบในที่เกิดเหตุได้
………………………………..
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก