เมื่อวันที่ (15 เม.ย. 63) เวลา 13.00 น. ณ โถงบัญชาการ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงผลการประชุมเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมีสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีรับทราบถึงความลำบากของประชาชนจากการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน จึงมีมาตรการช่วยเหลือ เยียวยาโดยคำนึงถึงคนทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ทั้งมาตรการระยะ 1 และระยะ 2 ตามลำดับ ซึ่งได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลกลุ่มลูกจ้าง – พนักงานเอกชน รวมถึงพนักงานเอกชนในระบบประกันสังคม และแรงงานอิสระด้วย ที่ไม่ได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาล 5,000 บาท และยังมีค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเช่าที่อยู่อาศัยด้วย
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของรัฐบาลทั้งการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ลดค่าน้ำประปา ลดค่าไฟฟ้า การคืนเงินเงินประกันการใช้ไฟฟ้า เพิ่มจำนวนหน่วยของการใช้ไฟฟ้าโดยไม่มีค่าใช้จ่าย กำหนดให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เข้ารับการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย การพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย รวมทั้งยังมีการขยายเวลาการชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยใช้กลไกงบประมาณ ซึ่งมาจากงบประมาณจำปี งบกลาง มาตรการทางภาษี มาตรการทางการเงิน ผ่านสถาบันการเงินของรัฐและระบบประกันสังคมมาดำเนินการ ซึ่งอยากขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินพาณิชย์ พิจารณาสามารถช่วยเหลือส่วนไหนได้บ้าง เพื่อจะป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายทั้งหมดเนื่องจากระบบการเงินของประเทศ เป็นห่วงโซ่เดียวกัน
นายกรัฐมนตรียังชี้แจงการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนว่า รัฐบาลได้ใช้เงินในระบบของประกันสังคมและงบประมาณประจำปีเพื่อควบคุมดูแลมาตรการการเงิน การคลัง สำหรับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนด้วยเงิน 5,000 บาทต่อเดือน ซึ่งปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยาเป็นจำนวนมาก และมีผู้ที่ได้รับเงินเยียวยาบางส่วนแล้ว ยืนยันว่ารัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกกลุ่มอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดยพิจารณาจากฐานข้อมูลจำนวนคนที่อยู่ในระบบแรงงานมีประมาณ 37 ล้านคน ประกอบไปด้วยผู้มีอาชีพอิสระ แรงงานนอกระบบ 9 ล้านคน แรงงานในระบบ 11 ล้านคน และเกษตรกร 17 ล้านคน นอกจากนี้ยังจะพิจารณาในส่วนของนักศึกษาที่ทำงานและยังไม่ทำงานอย่างรอบคอบเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายต่อไป
นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงว่า รัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงินจากหลายส่วน ส่วนแรก คือ เงินจากพระราชบัญญัติโอนงบประมาณ ที่ต้องใช้เวลาพอสมควร เนื่องจากต้องผ่านการพิจารณาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา คาดว่าจะสามารถนำงบประมาณในส่วนนี้มาใช้ได้เดือนมิถุนายน 2563 จำนวนไม่เกินแสนล้านบาท เป็นเงินที่ได้คืนมาจากกระทรวงต่าง ๆ และอีกส่วนหนึ่งคือจากพระราชกำหนดกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมการ นอกจากนี้ยังมีพระราชกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อบริหารระบบการเงิน การคลัง เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายและความไม่น่าเชื่อถือในตลาดหุ้นที่ยึดโยงกับสถาบันการเงินด้วย ซึ่ง พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทมีขั้นตอน รอประกาศใช้ปลายเดือนเมษายนหรือเดือนพฤษภาคม 2563 เพราะจะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการ เพื่อให้เป็นไปตามร่าง พ.ร.ก. เงินกู้ โดยรัฐบาลได้ใช้เงินจากงบประมาณกลางประจำปี 2563 และโอนงบประมาณคืนจากบางโครงการที่ยังไม่ได้ดำเนินงาน เป็นวงเงินประมาณ 5 หมื่นล้าน ซึ่งจะครอบคลุมมาตรการช่วยเหลือเยียวยา 5,000 บาท เดือนเดียวและจะนำเงินจาก พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท มาใช้ในเดือนที่ 2 และเดือนที่ 3 ถัดไป ขอยืนยันว่ารัฐบาลจะดูแลประชาชนทุกคนอย่างเต็มความสามารถ
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระรับจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว ประกอบกิจการส่วนตัว ค้าขาย รวมถึงอาชีพอิสระตามประกันสังคม มาตรการ 39 และ 40 จากคาดไว้เดิมที่ 3 ล้านคนเป็น 9 ล้านคนนั้น รัฐบาลมีงบประมาณช่วยเหลือในเดือนเมษายน โดยใช้เงินจากงบประมาณกลางและเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน 45,000 ล้าน สำหรับแรงงานในระบบประกันสังคมที่มีรายได้ประจำ ตามประกันสังคม มาตรา 33 จำนวน 11 ล้านคน ได้มีการใช้เงินช่วยเหลือเยียวยาจากกองทุนประกันสังคม 230,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ต้องปิดกิจการ ซึ่งกระทรวงการคลังและกองทุนประกันสังคมจะต้องบริหารจัดการเพื่อช่วยเหลือแรงงานทุกคน
รัฐบาลกำลังพิจารณามาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรอีก 17 ล้านคน โดยจะนำเงินจากแหล่งอื่นตามกฎหมายงบประมาณมาให้แก่เกษตรกรในเดือนเมษายนนี้ และในเดือนถัดไปนั้นจากพ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ จะต้องมีการประเมินการให้เงินช่วยเหลือเยียวยาที่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจเอกชน รวมทั้งได้จัดตั้งคณะกรรมการกำดูแล เพื่อติดตาม รวบรวมข้อมูล บูรณาการข้อมูล ผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยจะมีการรับฟังความคิดเห็น ตรวจสอบการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาให้มีความครอบคลุมทั่วถึง จัดทำข้อเสนอแนะ กลไกและขั้นตอนการดำเนินการให้กลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือเยียวยาได้อย่างแท้จริง
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า วันนี้มอบหมายให้กระทรวงการคลังรับฟังความคิดเห็นจากทุกหน่วยงาน ทุกกระทรวง เพื่อจัดทำมาตรการเยียวยาเพื่อรายบุคคล การจัดทำ Soft Loan โดยรัฐบาลยังคำนึงถึง NPL ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลประชาชนและพี่น้องประชาชนเองตระหนักถึงการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐด้วย ที่จะต้องระมัดระวังอยู่เสมอ และขอให้ประชาชนใช้เงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก