นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส โดยเฉพาะเอสเอ็มอีขนาดเล็กขนาดน้อย (ไมโครเอสเอ็มอี) ให้อยู่และจ้างงานต่อได้ ภายใต้คณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า
คณะทำงานได้หารือร่วมกันแล้ว ล่าสุดอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอแนวทางช่วยเหลือเอสเอ็มอีในที่ประชุมคณะที่ปรึกษาฯ วันที่ 20 เมษายน ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยหลักการช่วยเหลือคือประคองธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีมากกว่า 3 ล้านกิจการทั่วประเทศ ให้อยู่รอด มีการจ้างงานต่อไปได้ กรอบข้อเสนอ อาทิ การลดต้นทุนให้เอสเอ็มอีผ่านระบบการเงิน ระบบภาษี โดยขอให้ธนาคารพาณิชย์และธนาคารรัฐลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เดิม เพิ่มจาก 0.4% เป็น 1% การลดค่าไฟฟ้า 5% การลดจ่ายเงินประกันสังคมให้ส่วนของนายจ้างลงเหลือ 1% การยกเว้นการจ่ายภาษีนิติบุคคลแก่เอสเอ็มอีทุกธุรกิจเป็นเวลา 2 ปี และลดค่าจดจำนองโอนที่ดินเหลือ 0.01%
“นอกจากนี้ตามกรอบข้อเสนอยังต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือเยียวยาแรงงานในสัดส่วน 50% ของค่าจ้างขั้นต่ำ 15,000 บาท หรือให้รัฐช่วยจ่าย 7,500 บาทต่อเดือน ส่วนเอกชนเยียวยา 25% เพื่อให้นายจ้างรักษาแรงงานไว้” นายสุพันธุ์กล่าว
นายสุพันธุ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ขั้นตอนการการจัดซื้อจัดจ้าง อยากให้ภาครัฐเป็นผู้นำผลักดันการใช้สินค้าไทย ผลิตในประเทศ หรือ เมด อิน ไทยแลนด์ มากขึ้น ส่วนโครงการของรัฐที่มีการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว และยู่ในขั้นตอนการทำสัญญาและขั้นตอนการส่งมอบแต่ไม่สามารถทำได้ทัน เพราะติดปัญหาโควิด-19 ขอให้พิจารณาเลื่อนสัญญาออกไปอีก 4 เดือน นอกจากนี้ในขั้นตอนการขอใบอนุญาตและจ่ายค่าธรรมเนียมต่างๆ ซึ่งมีหลายใบอนุญาต และหลายขั้นตอน ขอให้ดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายลง
ข้อมูลข่าวจาก มติชน