นายกรัฐมนตรีประชุม ศบค. ประเมินผลปฏิบัติการควบคุมโควิด 19 ภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และข้อกำหนด พร้อมพิจารณาขยาย พ.ร.ก. และผ่อนปรนมาตรการ แต่ต้องไม่กระทบการควบคุมการระบาด
วันที่ (27 เมษายน 2563) เวลา 09.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ทำให้ผลการดำเนินงานของไทยได้รับการยอมรับยกย่องจากทั่วโลก รวมทั้ง WHO และได้ขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องถือว่าเป็นผลจากความพยายามทุ่มเทจากทุกภาคส่วน รวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาลที่ได้ร่วมดำเนินการอย่างจริงจัง
ที่ประชุมฯได้นำเสนอผลการดำเนินการของแต่ละด้านที่สำคัญ ดังนี้
กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานสถานการณ์ทั่วโลก สถิติในวันที่ 27 เมษายน 63 มีผู้ป่วยเกือบ 3 ล้านคน ไทยอยู่อันดับที่ 58 ของโลก สถานการณ์ในประเทศอื่นๆ เช่น ที่สหรัฐอเมริกายังมีแนวโน้มชะลอตัว สิงคโปร์ผู้ป่วยรายใหม่เริ่มลดลง ส่วนไทยมีผู้ป่วยลดลงจนเหลือจำนวนผู้ป่วยใหม่รายวันเป็นเลขตัวเดียวในวันนี้เป็นวันแรกตั้งแต่ตั้ง ศบค. มา รวมทั้ง พัฒนาการการตรวจหาการติดเชื้อ จำนวนคนที่ได้รับการตรวจ ซึ่งปัจจุบันใช้ระบบ active case finding เพื่อให้พบผู้ป่วยเร็วขึ้น และตรวจได้มากขึ้น ซึ่งจังหวัดที่ตรวจมากที่สุด คือ กรุงเทพฯ แต่ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขจัดให้กระจายการตรวจให้ครอบคลุม โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง เช่น ชายแดนใต้
ทั้งนี้ WHO เตือนว่าผู้ติดเชื้อ COVID-19 แล้วอาจติดเชื้อได้อีก อย่างไรก็ดี จากการคาดการณ์ และประเมิน ถือว่า ไทยควบคุมสถานการณ์ได้ดี ควบคุมการระบาดได้ หากยังใช้มาตรการเข้มข้นต่อไป แต่สามารถอนุญาตให้เปิดภาคธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำดำเนินกิจการได้ โดยต้องมีแนวปฏิบัติ และการควบคุมที่ชัดเจน
การประเมินผลสัมฤทธิ์ในการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในช่วงเวลา ที่ผ่านมา โดยเลขา สมช. ได้รายงานสรุปสถานการณ์การปฏิบัติตามข้อสั่งการของ ผอ.ศบค. แต่เพื่อให้สถานการณ์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเห็นว่าอาจพิจารณาขยายการต่อ พ.ร.ก. ออกไปอีก 1 เดือน และพิจารณาคงมาตรการที่สำคัญ และจำเป็น ได้แก่
1. ควบคุมการเดินทางเข้าราชอาณาจักร ทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ขยายการห้ามอากาศยานบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราวออกไปอีก 1 เดือน (ระหว่างวันที่ 1-31 พฤษภาคม 2563)
2. งดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด โดยไม่มีเหตุจำเป็น
3. ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถาน (curfew) ระหว่างเวลา 22.00-04.00 น.
4. งดการดำเนินกิจกรรมที่มีผู้คนเข้าร่วมจำนวนมาก ห้ามประชาชนเข้าไปในพื้นที่ หรือสถานที่ซึ่งมีคนจำนวนมาก งดการทำกิจกรรมร่วมกัน หรือประกอบกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เป็นการชั่วคราว
เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติได้เสนอแนวทางการผ่อนปรนภายหลังการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้นายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน ศบค. มีอำนาจในการกำหนดการผ่อนปรนการบังคับใช้กฎหมายในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เพื่อให้เกิดมาตรฐานของประเทศ และมีความเป็นเอกภาพในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ตลอดจน มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ และผู้ว่าราชการทุกจังหวัดกำหนดรายละเอียดการดำเนินการ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ตามสภาพปัญหา ความพร้อมของเจ้าหน้าที่ และการได้รับความร่วมมือจากประชาชน โดยคำนึงถึงหลักการพิจารณาที่สำคัญ ดังนี้
– คำนึงถึงปัจจัยด้านการสาธารณสุขเป็นหลัก
– วิธีดำเนินการให้พิจารณาจากประเภทของกิจกรรมที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน และมีการบังคับใช้มาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนด อาทิ 1. การเว้นระยะห่างทางสังคม และทุกคนต้องสวมหน้ากาก 2. การวัดอุณหภูมิ 3. การมีจุดบริการแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ/เจลล้างมือ 4. การจำกัดคนให้เหมาะสมต่อกิจกรรมและสถานที่ 5. จัดเจ้าหน้าที่ และ/หรือ ใช้เทคโนโลยีเพื่อตรวจสอบการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ทำงานร่วมกับภาคเอกชนเพื่อพิจารณาแนวทางเกี่ยวกับการผ่อนปรนข้อกำหนดและมาตรการสำหรับกลุ่มต่างๆ และจัดทำคู่มือสำหรับผู้ประกอบการ และประชาชนในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การจัดทำ Application ในการอำนวยความสะดวก และสำหรับประชาชนเพื่อให้ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสถานประกอบการว่าควรไปใช้บริการหรือไม่
ทั้งนี้ในส่วนของคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชน โดยนายกลินท์ สารสิน ได้รายงานองค์ประกอบคณะทำงานจากภาคส่วนต่างๆ ว่าได้มีการหารือและกำหนดแนวทางหลักเกณฑ์ของความพร้อมการเปิดสถานที่โดยกำหนดตามปัจจัยความเสี่ยงที่สำคัญ เช่น ความหนาแน่น การระบายอากาศ การกำหนดกลุ่มสถานที่ประกอบการ โดยได้เสนอจัดเป็นกลุ่มความเสี่ยงตามสี คือ ขาว เหลือง เขียว แดง จะจัดให้เปิดตามความพร้อม และปัจจัยองค์ประกอบ และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดได้ ซึ่งทั้งหมดจะมีการหารือเพื่อจัดทำข้อสรุปอีกครั้งในบ่ายวันนี้
นายกรัฐมนตรีขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมการพิจารณาหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติ และให้นำเรื่องต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไปอีก 1 เดือนเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการต่อ ซึ่งยังคงจำเป็นต่อการจำกัดการแพร่ระบาดโรค ส่วนการผ่อนคลายมาตรการต่างๆต้องพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน ซึ่งที่ประชุมได้เสนอความเห็น และอภิปรายอย่างกว้างขวางถึงผลดี ผลกระทบในการพิจารณาต่อมาตรการดังกล่าว โดยได้นำเหตุการณ์ ผลจากการปฏิบัติงานที่เกิดขึ้นจริง มาร่วมพิจารณา เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถปฏิบัติตามมาตรการเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยศึกษาตามสถานการณ์ของไทยและต่างประเทศ รวมทั้งมิติทางเศรษฐกิจ และผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยต้องพิจารณาเรื่องการควบคุมโรค ควบคุมการระบาดด้วย สำหรับกิจกรรมที่มีผู้คนจำนวนมากเข้าร่วม ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่ากิจกรรมใดยังสามารถยังจัดกิจกรรมได้ โดยขอให้แต่ละภาคส่วนกำหนดมาตรการให้ชัดเจน
และนายกรัฐมนตรีได้ให้หลักการว่า อยากให้ทุกจังหวัดเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากที่สุด ที่สามารถปฏิบัติได้ เพื่อให้ประชาชนได้มีรายได้ แต่หากส่วนไหนที่ยังไม่พร้อมอาจจะพิจารณาเป็นกรณี
สำหรับมาตรการ Work From Home ให้กำหนดเป็นมาตราการที่ยังดำเนินต่อไปในด้านการศึกษา ยังคงต้องให้เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 คือให้สถานศึกษาเลื่อนการเปิดภาคเรียนที่หนึ่ง ปีการศึกษา 2563 จากวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 แต่ต้องเตรียมทุกอย่างให้พร้อมรองรับ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการเรียนการสอนของเยาวชน
และในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมการดำเนินการที่ สนามบิน และสถานกักกัน โดยได้ให้กำลังใจทุกคนให้ตั้งใจทำอย่างเต็มที่ ที่สนามบินคนไทยทุกคนดีใจที่ได้กลับบ้าน และมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานดูแล อำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กำชับในทุกกระบวนการทำงานให้ เข้มงวด รวดเร็ว และเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตลอดจนให้การดูแลคนไทยที่ผ่านเข้ามาตามช่องทางต่างๆ เช่น ช่องทางธรรมชาติ ต้องมีมาตรการแก้ปัญหา และรองรับคนกลุ่มนี้
แม้ว่าสถานการณ์ภาพรวมในประเทศจะดีขึ้น ซึ่งเกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของคนทั้งประเทศ แต่ยังวางใจไม่ได้ สถานการณ์ทั่วโลกยังเป็นที่น่ากังวล ขอให้คงมาตรการการประชาสัมพันธ์ ทุกขั้นตอนการทำงานของรัฐบาลให้ประชาชนมั่นใจ ไว้ใจ ทั้งนี้ ผู้ที่หายป่วย ออกจากโรงพยาบาลไปพักผ่อนที่บ้านแล้ว ยังคงดำเนินการตามมาตรการอย่างต่อเนื่องด้วยความระมัดระวัง ตลอดจน การแจกของให้ผู้ขาดแคลน เป็นเรื่องที่คนมีน้ำใจอยากช่วยเหลือกัน แต่ต้องไปดูการจัดระเบียบตามมาตรการ เพื่อป้องกันการระบาดของโรค