ธ.ก.ส. พักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถึงกำหนดชำระ ตั้งแต่งวดเมษายน 2563 – มีนาคม 2564 เป็นเวลา 1 ปี ให้กับเกษตรกรลูกค้าทุกกลุ่มโดยอัตโนมัติ เพื่อช่วยเกษตรกรฝ่าวิกฤต COVID-19 และภัยแล้ง พร้อมแจงภาพรวม 4 มาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ โดยมีเกษตรกรลูกค้าได้รับประโยชน์กว่า 3.3 ล้านราย ต้นเงินกู้กว่า 1.2 ล้านล้านบาท ดันแผนฟื้นฟูภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างรายได้ ความมั่นคงและยั่งยืนให้เกษตรกร
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการระบาดของเชื้อไวรัส COVID – 19 ให้คลายความกังวลจากภาระหนี้สิน และสามารถผ่านพ้นช่วงระยะเวลาแห่งความยากลำบากไปด้วยกัน ธ.ก.ส. ในฐานะหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง จึงได้เพิ่มมาตรการช่วยเหลือให้แก่ลูกค้า ธ.ก.ส. ให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยการพักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยเงินกู้ ที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่งวดเดือนเมษายน 2563 – งวดเดือนมีนาคม 2564 เป็นเวลา 1 ปี โดยอัตโนมัติ และยังคงชั้นหนี้เดิมของลูกค้าก่อนเข้าโครงการฯ ซึ่งมาตรการดังกล่าวครอบคลุมลูกค้าทุกกลุ่ม ทั้งที่เป็นเกษตรกรรายคน บุคคล ผู้ประกอบการ (นิติบุคคล) กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ กองทุนหมู่บ้านและ
ชุมชนเมือง รวมผู้ที่ได้รับประโยชน์จำนวน 3,348,378ราย คิดเป็นต้นเงินกู้จำนวน 1,265,492 ล้านบาท
โดยก่อนหน้านี้ ธ.ก.ส.
มีมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 มาอย่างต่อเนื่อง แบ่งเป็น 4 มาตรการ ได้แก่
1) มาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ในภาพรวม ประกอบด้วยการขยายระยะเวลาชำระหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ย ปลอดชำระต้นเงินใน 3 ปีแรก ให้กับลูกหนี้ปกติ และลูกหนี้ NPL ครอบคลุมทั้งเกษตรกรลูกค้า ผู้ประกอบการ และสถาบัน ระยะเวลาดำเนินมาตรการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 – 31 ธันวาคม 2564 และยังมีสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) ในการประกอบอาชีพแก่ลูกหนี้เพิ่มเติมเพื่อเสริมสภาพคล่อง
2) มาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีงวดชำระเป็นรายเดือน โดยพักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ย 3 เดือน โดยอัตโนมัติ (เดือนเมษายน ถึงมิถุนายน 2563) ทั้งในส่วนของเกษตรกร บุคคล ผู้ประกอบการ (นิติบุคคล) กลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชุน และสหกรณ์ ทั้งประเภทสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (วงเงินกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาท) และโครงการสินเชื่อ SME เกษตร (วงเงินกู้ไม่เกิน 20 ล้านบาท)
3) มาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินลูกค้า SMEs จำนวน 2 มาตรการ ได้แก่
1. มาตรการพักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ย 6 เดือน (เมษายนถึงกันยายน 2563) แบบอัตโนมัติทุกราย ให้กับ SMEs ที่มีวงเงินกู้รวมไม่เกิน 100 ล้านบาท และในระหว่างพักชำระหนี้ ลูกค้าที่ประสงค์ชำระหนี้ ธ.ก.ส.จะคืนดอกเบี้ยร้อยละ 10 ของเงินที่ส่งชำระ (Cash Back)
2. มาตรการสนับสนุนสินเชื่อธุรกิจ SMEs ( Soft Loan ของ ธปท.) เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการที่มีวงเงินกู้รวมไม่เกิน 500 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี รัฐบาลรับภาระจ่ายดอกเบี้ยแทน 6 เดือนแรก วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน ร้อยละ 20 ของยอดหนี้คงค้าง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562
4) มาตรการสินเชื่อฉุกเฉิน วงเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและครอบครัวของเกษตรกรในการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายจำเป็นและฉุกเฉินในครัวเรือน ในอัตราดอกเบี้ยคงที่เพียงร้อยละ 0.1 ต่อเดือน วงเงินกู้รายละไม่เกิน 10,000 บาท กำหนดชำระคืนไม่เกิน 2 ปี 6 เดือนนับจากวันกู้ ไม่ต้องใช้หลักประกัน โดยปลอดชำระคืนต้นเงินและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรกนับจากวันกู้
ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ยังได้เตรียมมาตรการในการฟื้นฟู เพื่อช่วยเหลือให้เกษตรกรลูกค้า กลับมาพัฒนาอาชีพที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและชุมชน มีรายได้ ควบคู่กับการร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของชุมชนอย่างยั่งยืน โดยน้อมนำความรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ในการดำเนินชีวิต ซึ่ง ธ.ก.ส.มุ่งหวังว่าสามารถช่วยผู้ที่ได้รับผลกระทบ จำนวนกว่า 1,000,000 ราย
นายอภิรมย์กล่าวอีกว่า มาตรการดังกล่าวของ ธ.ก.ส. คาดว่าจะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.ครอบคลุมทุกกลุ่ม ให้กลับมามีขวัญกำลังใจ ในการผลิตสินค้าทางการเกษตร เพื่อให้มีอาหารที่เพียงพอต่อการบริโภค การส่งออกเพื่อสร้างรายได้ รวมถึงเป็นกำลังหลักในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศต่อไป ทั้งนี้ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 02 555 0555
[กระทรวงการคลัง]