เลขา สมช. เผยจำหน่ายสุรา ได้ตั้งแต่ 3 พ.ค. หากพบมั่วสุมดื่มสุรา สั่งปิดอีกครั้ง ขณะที่ปลัด มท. กำชับ ขรก. ห้ามลา ห้ามเดินทางต่างจังหวัดช่วง 1-11 พ.ค. นี้
วันที่ (2 พ.ค. 63) เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และพลเอกสมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ตอบคำถามเกี่ยวกับข้อกำหนดที่ออกตามมาตรการ 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 5 และ 6) ระหว่างการแถลงข่าวของศูนย์ข่าวโควิด-19 และสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ชี้แจง กิจกรรมดูแลความงามในคลีนิกเสริมความงามที่จัดตั้งอย่างถูกต้อง เช่นฉีดโบท็อกซ์ หรือการทำศัลยกรรมต่าง ๆ ยังไม่อนุญาตให้เปิดบริการ ที่สามารถเปิดได้คือ สถานพยาบาลพื้นฐานที่มีผลต่อชีวิตประจำวัน ส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตโดยปกติสุข และเป็นกิจกรรมใดๆ ที่ใช้เวลานาน มีความเสี่ยงที่จะติดโรคทั้งจากผู้รับและผู้ให้บริการจะยังไม่อนุญาต โดยประเมินในเฟส 2 หรือเฟส 3 ต่อไป
กรณีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สามารถขายได้ ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. 63 เป็นต้นไป ในสถานที่ ห้างร้านที่ได้รับใบอนุญาตให้จำหน่ายสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หากเห็นว่าพื้นที่ของตนมีการละเมิด มีการแพร่เชื้อไวรัสจากกิจการ/กิจกรรม เนื่องมาจากการจำหน่ายสุรา แอลกอฮอล์ ก็สามารถสั่งปิดในภายหลังได้ หากซื้อไปและมีการมั่วสุมหรือรวมกลุ่มในเคหสถาน เช่นที่บ้าน หอพัก คอนโดฯ ทั้งหลังและก่อนเคอร์ฟิว จะมีความผิดในลักษณะอื่นอีก ซึ่งเจ้าหน้าที่มีสิทธิที่จะเข้าไปตักเตือนหรือดำเนินคดีได้หากการจำหน่ายสุราเป็นต้นเหตุของการมั่วสุม อาจจะต้องกลับมาจำกัดหรืองดการจำหน่ายสุราในที่สุด ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน ห้ามดื่มสุราที่ร้านจำหน่าย และเมื่อซื้อกลับไปถึงที่บ้านแล้วขอให้ดื่มแต่พอสมควร
ทั้งนี้ การกำหนดมาตรการผ่อนปรนหรือมาตรการกำกับกิจการ/กิจกรรมได้มีการหารือกันระหว่าง ฝ่ายความมั่นคงตัวแทนของสภาพัฒน์ฯ และฝ่ายสาธารณสุข เป็นความเห็นชอบร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย โดยพิจารณาตามปัจจัย คือ ความร่วมมือของพี่น้องประชาชน ความพร้อมของผู้ประกอบการ และกิจกรรม/กิจการเหล่านั้นเอื้อประโยชน์ต่อสาธารณสุขและเศรษฐกิจพื้นฐานมากน้อย ทั้งนี้ จะมีการติดตามและหารือเป็นระยะๆ ต่อไป
เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติยังชี้แจงการเดินทางเคลื่อนย้ายข้ามจังหวัดว่า ยังคงเป็นมาตรการที่กำหนดไว้ในข้อกำหนด ไม่สนับสนุนวิธีการเดินทางใดๆ โดยนายกรัฐมนตรีในนาม ผอ.ศบค. นำเข้าหารือในที่ประชุมครม. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาและมีมติชัดเจนว่า ช่วง 1-11 พ.ค. 63 ซึ่งมีวันหยุดหลายวัน ข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ ห้ามลาในช่วงนี้ คือห้ามเคลื่อนย้ายกลับไปภูมิลำเนา ผู้บังคับบัญชาต้องพิจารณาอย่างเคร่งครัดให้ลาโดยเหตุจำเป็นเร่งด่วนจริง ๆ นอกจากนี้ ระหว่างการเดินทางก็จะพบมาตรการที่เข้มข้น จะไม่ได้รับความสะดวกสบาย เนื่องจากไม่ต้องการเกิดการแพร่ระบาดของโรค จนเกินไปจากความสามารถที่เราจะควบคุมได้
จากนั้น นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ชี้แจงประเด็นการเดินทางกลับต่างจังหวัดของประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางไปยังจังหวัดเสี่ยง เช่น จังหวัดภูเก็ต โดยย้ำว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศจะต้องยึดกรอบข้อกำหนดของทางส่วนกลาง และคำสั่งต่าง ๆ ของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) เป็นหลัก จะไม่ปฏิบัติแตกต่างจากข้อกำหนดดังกล่าว ความเข้มงวดขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ สาระสำคัญคือการรักษาประโยชน์สาธารณะ ดูแลพี่น้องประชาชน ป้องกันการยับยั้ง รวมทั้งปฏิบัติตามข้อห่วงใยของรัฐบาลในการดูแลการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพของประชาชน ซึ่งในขณะนี้กระทรวงมหาดไทยได้สำรวจปัญหา ข้อจำกัดความต้องการของประชาชนให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน มอบผ่านกำนันและผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ดำเนินการ
จากข้อกำหนดชะลอการเดินทางข้ามเขตจังหวัด สำหรับบุคคลที่มีเหตุจำเป็นต้องเดินทางข้ามเขตจังหวัด จะต้องอธิบายเหตุผลพร้อมหลักฐานประกอบแต่ละกรณีของการเดินทาง โดยต้องผ่านการตรวจคัดกรองตามจุดตรวจต่าง ๆที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เมื่อเดินทางกลับถึงภูมิลำเนาจะต้องได้รับการดูแลจากพื้นที่ที่เป็นภูมิลำเนาด้วย สำหรับกรณีที่ต้องมีการกักตัว 14 วัน จะขึ้นอยู่กับกรณีไป
โดยกลุ่มของผู้เดินทางจะแบ่งเป็น
กลุ่มที่ 1. ผู้ที่เดินทางปกติ จะต้องอธิบายอย่างมีเหตุผล
กลุ่มที่ 2. ผู้เดินทางที่ผ่านกระบวนการ Quarantine จะมีใบรับรองเพื่อแสดงหลักฐานยืนยันว่าได้ผ่านกระบวนการกักตัวแล้ว
กลุ่มที่ 3. ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงจะต้องมีหลักฐานที่ชัดเจน และ
กลุ่มที่ 4. ผู้ที่เดินทางมาจากจังหวัดภูเก็ต
โดยบุคคลเหล่านี้ได้มีคำสั่งให้กักตัวจากจังหวัดภูเก็ตตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม ซึ่งเป็นระยะเวลามากกว่า 30 วันแล้ว โดยเป็นการสั่งผ่านทั้ง 18 จังหวัด ห้ามไม่ให้บุคคลดังกล่าวเข้าหรือออกนอกเขตพื้นที่ ถือว่าคนกลุ่มนี้ได้ผ่านการกักตัวแล้ว ฉะนั้นการเดินทางของบุคคลดังกล่าวจะมีใบรับรองจากเจ้าหน้าที่และผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมทั้งมีการแจ้งจังหวัดปลายทางที่เป็นจังหวัดภูมิลำเนาให้ทราบว่าจะมีการเดินทางของคนกลุ่มนี้ด้วย ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนอย่ากังวล เพียงแต่ขอความร่วมมือหากอยู่ในกลุ่มเป้าหมายใด ให้แสดงข้อมูลและเหตุผลอย่างชัดเจน พร้อมขอร้องทุกคนเข้าใจและเห็นใจผู้ที่ทำงานประจำจุดตรวจสกัด ที่ปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 ด้วย