กสศ. เดินหน้าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่น 2 ให้ทุนเด็กเรียนครูป้อนโรงเรียนของชุมชน 301 อัตรา กำหนดเตรียมลงพื้นที่ค้นหา คัดกรองเด็ก ก.ย. นี้ ตั้งเป้าหวังให้เป็นการปฏิรูปการศึกษาตั้งแต่ต้นน้ำผ่านกระบวนการผลิตครู พร้อมปรับแผนรับมือโรคระบาดโควิด-19
เมื่อวันที่ 13 พ.ค. ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ) กล่าวว่า คณะกรรมการบริหาร กสศ. ได้เห็นชอบแผนการทำงานโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่น 2 ซึ่งขณะนี้ได้ประกาศเชิญชวนสถาบันอุดมศึกษาที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ สำหรับโครงการรุ่นที่ 2 นี้
ทางสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แจ้งว่ามีอัตราครูในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลที่จะสามารถบรรจุเป็นครูได้รวม 301 อัตรา ในเครือข่ายพื้นที่การทำงาน 45 จังหวัด ใกล้เคียงกับรุ่นที่หนึ่ง ซึ่งจะยังคงเน้นผลิตบุคลากรครูในสาขาปฐมวัยและประถมศึกษาเหมือนเดิม
อย่างไรก็ตาม ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทาง กสศ. ได้ปรับแนวทางการทำงานทั้งการรับข้อเสนอจากสถาบันการศึกษาที่สนใจเข้าร่วมโครงการตามประกาศ โดยจะมีการเวิร์คช็อปออนไลน์ผ่านระบบ ZOOM ร่วมกับสถานศึกษาครั้งแรกในวันที่ 22 พ.ค.นี้
จากนั้นจะพิจารณาและคัดเลือกสถาบันเข้าร่วมโครงการให้แล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค. ก่อนเริ่มจะคัดเลือกเด็กในช่วง ก.ย.-ธ.ค. ซึ่งแต่ละสถาบันการศึกษาจะลงพื้นที่ค้นหา คัดกรอง และออกแบบกระบวนการคัดเลือกเพื่อให้ได้รายชื่อเด็กที่ผ่านการคัดเลือกทั้งหมดในเดือน ม.ค. 2564
ดร.อุดม กล่าวต่อไปว่า หนึ่งในแนวคิดหลักของโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น คือการสร้างบัณฑิตครูคุณภาพพร้อมให้เขากลับไปสอนรุ่นน้องและพัฒนาชุมชนบ้านเกิด ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล (Protected School หรือ Standalone) ดังนั้นนอกจากการสอนหนังสือแล้ว จึงจะเน้นการแก้ปัญหาชุมชนด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น หากในพื้นที่เป็นทำการเกษตรเขาก็จะต้องรู้จักวิธีทำการเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งมหาวิทยาลัยจะต้องรู้จักบริบทของพื้นที่เพื่อออกแบบการสอนให้สอดรับกับความต้องการ เมื่อจบมาแล้วไปเป็นครูในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล เพราะหากต้องยุบโรงเรียนเหล่านี้ไปเด็กๆ อีกหลายคนในชุมชนก็อาจจะเสียโอกาสการเข้าถึงการศึกษา
“ทาง กสศ. คาดหวังว่าโครงการนี้จะเป็นหนึ่งในการปฏิรูปการศึกษาตั้งแต่ต้นน้ำ คือ การผลิตครู ที่มหาวิทยาลัยจะไม่สอนตามหลักสูตรในรูปแบบเดิมๆ อีกต่อไป แนวทางที่ดำเนินการอยู่จะทำให้มหาวิทยาลัยได้ทบทวนและศึกษากระบวนการผลิตครูของตัวเองไปด้วยว่าการสร้างบัณฑิตครูคุณภาพที่สอดรับกับความต้องการของโรงเรียนนั้นควรเป็นอย่างไร ตามมาตรฐานนักศึกษาประมาณ 30 คนต่อชั้นเรียน ” ดร.อุดม กล่าว
ดังนั้น เราจึงคาดหวังว่าสถาบันที่เข้าร่วมโครงการจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ในที่สุด จึงถือเป็นต้นน้ำที่มีความสำคัญอย่างยิ่งและทำให้ระบบการศึกษาไทยมีครูดีที่จะใส่เข้าไปในระบบ
ผอ.สำนักพัฒนาคุณภาพครูฯ กล่าวอีกว่า อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญก็คือกระบวนการค้นหาเด็กมาเรียน คือมหาวิทยาลัยมีการทำงานเชิงรุกในการลงไปค้นหาเด็กถึงบ้าน ทำให้อาจารย์ในมหาวิทยาลัยรู้จักเด็กๆ ตั้งแต่ยังไม่เข้าเรียน ซึ่งข้อมูลที่ได้จะถูกนำไปเป็นองค์ประกอบของการปรับกระบวนการเรียนการสอน
ซึ่งหวังว่าแต่ละมหาวิทยาลัยจะเกิดการปรับปรุงหลักสูตรของตัวเองในที่สุด อีกด้านหนึ่งเราคาดหวังว่าจะทำให้ไม่เกิดการผลิตครูที่ล้นเกินความต้องการ เพราะหากผลิตครูตามอัตราที่ต้องการคือนำอุปสงค์มาเป็นตัวตั้งว่ามีอัตราบรรจุ 301 อัตรา ก็ผลิตครูตามอัตราดังกล่าว จะทำให้ไม่เกิดบัณฑิตครูล้นตลาด แม้ว่าที่ผ่านมา สพฐ. จะมีการบรรจุครูจบใหม่ในแต่ละปีราวสองหมื่นคน แต่บัณฑิตครูก็ยังมีเกินกว่าที่จะรับได้หลายเท่า จึงกลายเป็นความสูญเสียด้านทรัพยากรที่ปลูกฝังสร้างบัณฑิตครูขึ้นมา
สำหรับความคืบหน้าสำหรับโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นหนึ่งนั้นได้ผ่านการประกาศรายชื่อนักเรียนที่เข้าโครงการเรียบร้อยแล้วโดยมี 11 สถาบันการศึกษาที่รับนักศึกษาเข้าเรียนในสาขาปฐมวัยและประถมศึกษา 328 คน โดยช่วงนี้จะต้องดูแลนักศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและมีการปรับวิธีการทำงานให้ได้ในช่วงนี้ และจากการสำรวจข้อมูลของนักศึกษาครูรุ่นแรก 328 คน ว่าถ้าหากมหาวิทยาลัยมีนโยบายให้เรียนออนไลน์จะมีความพร้อมแค่ไหน พบว่าในด้านสัญญาณอินเตอร์เน็ต 80% มีความพร้อม
ส่วนเรื่องเครื่องมือนั้นมีความพร้อมเพียง 50 % โดยทางบอร์ด กสศ. ได้เห็นชอบในหลักการสนับสนุนเครื่องมือเรียนรู้ที่จำเป็นแก่นักศึกษาทุน อีกด้านหนึ่งยังสนับสนุนงบประมาณให้แต่ละมหาวิทยาลัยออกแบบการเรียนการสอน เพื่อเสริมทักษะต่างๆ ได้ด้วย เช่น บางแห่งจัดเป็นกลุ่มๆ โดยใช้โรงเรียนในพื้นที่เป็นจุดเรียนรู้พร้อมไปกับการศึกษาบริบทชุมชนของตนเองไปด้วย ส่วนโครงการรุ่นที่สองมหาวิทยาลัยใดที่ศึกษาประกาศแล้วสนใจโครงการ สามารถเสนอผ่านระบบออนไลน์ได้ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. นี้เป็นต้นไป
ดร.อุดม กล่าวว่า โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 2 ปีการศึกษา 2564 นี้ มีเกณฑ์คัดเลือกที่ใกล้เคียงกับโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1 แต่จะมีการขยายขอบเขตของการเปิดรับสมัครสถาบันอุดมศึกษาที่สนใจเข้าร่วมเป็นสถาบันผลิตและพัฒนาครูในโครงการให้กว้างขึ้น เพื่อประโยชน์กับผู้เรียนที่ไม่ต้องเดินทางไกลจากภูมิลำเนาของตนเองมากนัก โดยพิจารณาคัดเลือกสถาบันที่อยู่ในภูมิภาคที่มีอัตราบรรจุแต่งตั้งครู ปี 2568 สำหรับโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล ที่ สพฐ.จัดสรรให้กับโครงการ
ดังนั้น ในปีนี้จึงจะมีสถาบันที่สามารถสมัครเข้าร่วมการคัดเลือกเป็นสถาบันผลิตและพัฒนาครูในโครงการได้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม กสศ. มีกระบวนการคัดเลือกสถาบันที่จะเข้าร่วมโครงการอย่างเข้มข้นตามเกณฑ์คุณภาพ โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่จะร่วมกันพิจารณาข้อเสนอโครงการ และลงพื้นที่ดูความพร้อมในสภาพจริง รวมถึงแลกเปลี่ยนพูดคุยกับผู้บริหารของสถาบัน เพื่อประเมินความพร้อมทั้งทางกายภาพ และฐานคิดที่สอดคล้องกับเป้าหมายโครงการด้วย
ทั้งนี้สถาบันที่เข้าร่วมโครงการจะเริ่มปฏิบัติการผลิตครูตั้งแต่ต้นทาง คือ มีกระบวนการค้นหา คัดกรอง และคัดเลือก ให้ได้ผู้มีจิตใจรักอยากเป็นครู มีจิตสาธารณะที่พร้อมจะกลับไปพัฒนาชุมชนให้เกิดความยั่งยืน และได้ครูที่มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน ได้สอดคล้องกับภารกิจหลักของ กสศ. คือ การสร้างโอกาสให้กับเด็กๆ ที่มีความขาดแคลนโอกาสและทุนทรัพย์ ตามเกณฑ์ของ กสศ. ที่จะได้รับทุนเพื่อเรียนครูจนจบและกลับไปบรรจุเป็นครูของชุมชนในภูมิลำเนาของตนเอง
ทั้งนี้สำหรับสถาบันที่สนใจเข้าร่วมสามารถลงทะเบียนได้ตามลิงค์ https://forms.gle/WWrk6W7uJr5qi7sn9 หรือ Scan QR Code ( 1 มหาวิทยาลัยลงทะเบียนได้สถาบันละ 2 ท่าน) ทาง กสศ. จะจัดส่งลิงค์เข้าร่วมการประชุมไปทาง e-mail ของท่านต่อไป.
ข้อมูลข่าวจาก เดลินิวส์