นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานแถลงข่าว “โครงการจ้างงานให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19” ทุ่มงบประมาณ 445,176,000 บาท จ้างงาน 16,488 อัตรา อัตราละ 9,000
วันที่ (25 มิ.ย. 63) เวลา 10.00 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานแถลงข่าว “โครงการจ้างงานให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19” ทุ่มงบประมาณ 445,176,000 บาท จ้างงาน 16,488 อัตรา อัตราละ 9,000 บาทต่อเดือน ระยะเวลาการจ้าง 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม – 30 กันยายน 2563 เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ตกงาน และเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่นั้นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดศักยภาพในการขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีคณะผู้บริหาร ทส. เข้าร่วมการแถลงข่าว ณ ห้องประชุม 101 และบริเวณชั้น 1 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายวราวุธ ศิลปอาชา กล่าวว่า สำหรับการจ้างงานทั้งหมด แบ่งเป็น 4 หน่วยงาน คือ
1.สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในโครงการ 1 คน 1 ตำบล ร่วมใจฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 7,225 อัตรา
2.กรมป่าไม้ ทำหน้าที่ลูกจ้างผู้ช่วยงานเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในการปฏิบัติงานตามนโยบาย คทช. ในการสำรวจการครอบครองที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และโครงการจ้างงานประชาชนเพื่อฟื้นฟูป่าหลังถูกไฟไหม้ “สร้างป่า สร้างงาน สร้างรายได้” จำนวน 5,058 อัตรา
3.กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทำหน้าที่ลูกจ้างผู้ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ปรับปรุงฟื้นฟูแหล่งน้ำเพื่อเป็นแหล่งน้ำแหล่งอาหารของสัตว์ป่า จำนวน 3,500 อัตรา 4.กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในโครงการจ้างสำรวจพื้นที่ใช้ประโยชน์ในเขตป่าชายเลน จำนวน 675 อัตรา
นอกจากนี้ ยังได้แถลงข่าวในประเด็นการเปิดอุทยานแห่งชาติ โดยบริหารการท่องเที่ยวแบบ New normal ในวันที่ 1 กรฎาคม 2563 นี้ ซึ่งมีอุทยานแห่งชาติที่เปิดทุกแหล่งท่องเที่ยว จำนวน 64 แห่ง และอุทยานแห่งชาติที่เปิดให้เที่ยวบางส่วน 63 แห่ง และต้องจองล่วงหน้าผ่านแอพพลิเคชั่น QueQ ก่อนการท่องเที่ยว
สำหรับประเด็นการรื้อถอนอาคาร บอมเบย์เบอร์มา รมว.ทส. ได้กล่าวขอโทษพี่น้องชาวจังหวัดแพร่ และจะไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก รวมถึงขอยืนยันว่าไม้สักจากการรื้อถอน ยังอยู่ครบถ้วน มีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ได้ถูกนำไปขายตามที่มีการกล่าวหาในโลกโซเชียลแต่อย่างใด ทั้งนี้ ได้ประสานกับกรมอุทยานฯ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชาวจังหวัดแพร่ในการหารือร่วมกันฟื้นฟูอาคารหลังนี้กลับมาขึ้นใหม่ มั่นใจจะฟื้นฟูอาคารแห่งนี้กลับมาได้มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ และฝากให้ทุกหน่วยงานในสังกัด สำรวจอาคารเก่าที่มีคุณค่า ว่าหากต้องซ่อมแซมจะมีแนวทางการซ่อมแซมอย่างไร ต้องหารือหน่วยงานใดบ้าง ซึ่งจะรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ประกอบด้วย