พาณิชย์ ปูพรมตรวจสอบจำหน่ายหน้ากากอนามัยทั่วประเทศ ล่าสุด.ตรวจสอบ 573 ร้าน ไม่พบผู้ค้ากระทำผิด ทุกรายขายราคาเฉลี่ยตั้งแต่ชิ้นละ 1-2.5 บาท
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ ออกตรวจสอบสถานการณ์การจำหน่ายหน้ากากอนามัยทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด ตามข้อสั่งการของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ภายหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจ.สมุทรสาคร และจังหวัดอื่นๆ โดยให้ตรวจสอบว่า ผู้ค้ามีการปฏิบัติที่ฝ่าฝืนพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพ.ศ.2542 หรือไม่ ทั้งในเรื่องของการจำหน่ายราคาสูงเกินสมควร จำหน่ายราคาสูงเกินราคาที่กำหนด ปฏิเสธการขาย ปิดป้ายแสดงราคา เป็นต้น
ทั้งนี้ ได้รับรายงานว่า จากการตรวจสอบร้านขายยา ร้านค้าทั่วไป ห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อ ของพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.63 แบบปูพรมตรวจสอบร้านค้ารวม 573 ราย พบว่า ร้านค้าต่างๆ ยังขายหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ไม่เกินราคาควบคุมที่ชิ้นละ 2.50 บาท โดยราคาขายแบบกล่อง (50 ชิ้น) อยู่ที่กล่องละ 50-125 บาทหรือเฉลี่ยชิ้นละ 1.00-2.50 บาท ขึ้นอยู่กับยี่ห้อ และคุณภาพของสินค้า
นอกจากนี้ ยังไม่พบการกักตุน หรือปฏิเสธการจำหน่าย แต่ปริมาณการซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้นมาก ทำให้บางร้าน มีสินค้าไม่เพียงพอ เพราะช่วงก่อนหน้านี้ ประชาชนซื้อน้อยลง ทำให้ร้านไม่ได้สต๊อกสินค้าไว้จำนวนมาก แต่ได้สั่งสินค้าจากโรงงานผู้ผลิตแล้วและจะได้สินค้าภายใน 2-3 วัน ส่วนหน้ากากอนามัยที่นำเข้าจากต่างประเทศ อาจขายสูงเกินกว่าราคาควบคุม เพราะผู้นำเข้าต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆ จากการนำเข้าด้วย ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์จึงอนุญาตให้ตั้งราคาขายโดยบวกค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มได้ไม่เกิน 60%ของราคานำเข้า
“กระทรวงพาณิชย์ ติดตามสถานการณ์ค้าหน้ากากอนามัยอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เกิดการระบาดใหม่ๆ ในช่วงต้นปี แต่ขณะตรวจสอบอย่างใกล้ชิดมากขึ้น และสั่งการให้พาณิชย์จังหวัดรายงานผลเข้ามาทุกวัน ยืนยันว่า หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ของเรามีเพียงพอ ล่าสุดมีโรงงานผลิตเพิ่มเป็น 30 แห่ง กำลังการผลิตวันละ 5 ล้านชิ้น จากในช่วงแรกๆ มี 9 แห่ง ผลิตได้วันละ 1.2 ล้านชิ้น โดยส่วนใหญ่ได้จัดสรรให้บุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มเสี่ยงได้ใช้ก่อน ส่วนประชาชนทั่วไป ที่ไม่ได้อยู่ในกุ่มเสี่ยง หรือเป็นโรค ยังมีหน้ากากทางเลือก อย่างหน้ากากผ้า ที่จะใช้ได้”
ส่วนสถานการณ์จำหน่ายหน้ากากอนามัยที่จ.สมุทรสาครนั้น ได้รับรายงานว่า สินค้ายังมีเพียงพอ แต่ประชาชนซื้อเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว และยังไม่พบการขายเกินราคาควบคุม หรือปฏิเสธการจำหน่าย ขณะที่การจำหน่ายเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ แอลกอฮอล์ น้ำยาฆ่าเชื้อทั่วประเทศนั้น ยังเป็นปกติ ขณะนี้ สินค้ามีจำนวนมาก และหาซื้อได้ง่าย ราคาไม่แพง โดยไทยเป็นประเทศเพาะปลูกมันสำปะหลังรายใหญ่ของโลก ซึ่งมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบที่ใช้ผลิตแอลกอฮอล์ ดังนั้น ยืนยันว่า ประเทศไทยไม่ขาดแคลนแอลกอฮอล์แน่นอน
สำหรับการตรวจสอบที่จ.ชลบุรี ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อโซเชียลว่า ร้านค้าบางแห่งแถวบางแสนขายหน้ากากอนามัยกล่องละ 300 บาทนั้น สำนักงานพาณิชย์จ.ชลบุรีออกตรวจสอบร้านค้าแถวบางแสนและบริเวณใกล้เคียงรวม 10 ร้าน ได้แก่ ร้านดีฟาร์มาซี ร้านฟาซิโน ร้านWHCวังยาเอลแคร์ ร้านบ้านยาบูรพา ร้านยาหยีเภสัช ร้านเฮลท์ อัพ สาขาห้างแหลมทอง ร้านบูทส์ สาขาห้างแหลมทอง ร้านวัตสัน สาขาห้างแหลมทอง ร้านบริบาลเภสัช และร้านคลังยา 51 ซึ่งพบว่า ร้านค้ายังขายหน้ากากอนามัยไม่เกินราคาควบคุม ส่วนใหญ่ราคาอยู่ที่กล่องละ 50-120 บาท และไม่พบร้านใด ขายเกินราคาอย่างที่ลงข่าวในซื่อโซเชียล
นายบุณยฤทธิ์ กล่าวว่า ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกซื้อหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ครั้งละจำนวนมาก เพราะสินค้าผลิตมาใหม่อย่างต่อเนื่อง ไม่จำเป็นต้องกักตุน และหากพบเห็นผู้มีพฤติกรรมเอาเปรียบ ให้แจ้งได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน โทร.1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ จะส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบ หากพบผิดจริง จะดำเนินการตามกฎหมายทันที โดยการขายสินค้าเกินราคาควบคุม มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, ขายสินค้าราคาแพงเกินควร และปฏิเสธการขาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, ไม่ปิดป้ายแสดงราคา มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
“ขอฝากไปถึงผู้ค้าด้วยว่า อย่าเอาเปรียบประชาชน เพราะกระทรวงพาณิชย์เอาผิดตามกฎหมายแน่นอน ที่ผ่านมา ได้จับกุมดำเนินคดีผู้ค้าหน้ากากอนามัยที่ทำผิดไปแล้ว 435 ราย โดยมี 2 รายที่คดีถึงที่สุดแล้ว ได้แก่ จ.บึงกาฬ ขายแพงเกินสมควร ศาลสั่งจำคุก 1 ปีแต่รอลงอาญา และปรับอีก 50,000 บาท อีกรายที่เพชรบูรณ์ จงใจขายแพง และปฏิเสธการขายเข้าข่ายกักตุนสินค้า ศาลสั่งจำคุก 1 ปีโดยไม่รอลงอาญา และปรับอีก 5,000 บาท ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบสถานการณ์จำหน่ายปลีกหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศในเดือนธ.ค.63 พบผู้กระทำผิด 1 รายที่จ.ตรัง โดยผู้ค้าไม่ปิดป้ายแสดงราคาขาย และขายราคาชิ้นละ 10 บาท สูงกว่าราคาควบคุม เจ้าหน้าที่ได้เปรียบเทียบปรับ และส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีแล้ว
ข้อมูลข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ