วันที่ 22 มิ.ย. 64 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวทางการช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษา ที่มีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อการศึกษา ว่า กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้เตรียมเงินไว้ 3.8 หมื่นล้านบาทรองรับผู้กู้ในปีการศึกษา 2564 จำนวน 6.24 แสนคน
โดยยกเลิกเงื่อนไขไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันการชำระเงินคืน ในสัญญากู้ยืมเงินใหม่ตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 ขณะนี้ ปล่อยกู้ไปแล้วกว่า 3 พันล้านบาท และอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติอีกส่วนหนึ่ง โดยกยศ. มีวงเงินเหลือพร้อมให้การสนับสนุนสำหรับนักเรียนนักศึกษาที่มีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไข ทั้งนี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนช่วงสถานการณ์โควิด-19
น.ส.รัชดา กล่าวว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ กยศ. ขณะนี้มีลูกหนี้ 3.6 ล้านคนและผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านคน โดย กยศ. ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี คือ1. ลดดอกเบี้ยเหลือ 0.01 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี สำหรับผู้กู้ที่ไม่เคยผิดนัด 2.ลดเบี้ยปรับ 100 เปอร์เซ็นต์ สำหรับผู้กู้ที่ชำระหนี้ปิดบัญชี
3.ลดเบี้ยปรับ 80 เปอร์เซ็นต์ สำหรับผู้กู้ที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมด 4.ลดเงินต้น 5เปอร์เซ็นต์สำหรับผู้กู้ที่ไม่เคยผิดนัดและชำระหนี้ปิดบัญชีในคราวเดียว 5.ลดอัตราการคิดเบี้ยปรับเหลือ 0.5เปอร์เซ็นต์กรณีไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด มีผลถึง 31 ธ.ค.นี้ สำหรับกรณีผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ ประจำปี 2563 และ 2564 กยศ. จะชะลอการฟ้องคดีไปจนถึง 31 มี.ค.ปีหน้า ยกเว้นคดีที่จะขาดอายุความในปีนี้ พร้อมงดการขายทอดตลาด
กรณีที่ถูกบังคับคดีจนถึงสิ้นปีนี้ ส่วนผู้กู้ยืมเงินที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะได้รับการพักชำระหนี้เป็นเวลา 2 ปี ทั้งนี้ ลูกหนี้ กยศ. จะได้รับความช่วยเหลือเพิ่มเติมตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ที่อยู่ระหว่างศึกษามาตรการอย่างรอบคอบก่อนประกาศใช้ อาทิ การปรับโครงสร้างหนี้ ลดเงินงวด ยืดเวลาผ่อนชำระ เป็นต้น
น.ส.รัชดา กล่าวว่า ธนาคารออมสิน ได้จัด “มหกรรมผ่อนปรนการชำระหนี้ครู” เพื่อยับยั้งไม่ให้ครูและบุคลากรทางเป็นหนี้เสีย ส่งผลเสียทางเครดิต และกระทบต่อหน้าที่ราชการ โดยให้เลือกจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน ตามแผนการชำระหนี้ที่ธนาคารกำหนด เป็นระยะเวลา 12 เดือน หรือนานที่สุดไม่เกินวันที่ 31 ธ.ค. 66 โดยเปิดให้แจ้งความประสงค์จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 64
“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ห่วงใยหนี้ครู บุคลากรทางการศึกษา และหนี้นักเรียน ที่หยั่งลึกมานาน เน้นให้มีมาตรการแก้หนี้ที่เป็นระบบ เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อบรรเทาวิกฤตหนี้สินภาคประชาชนให้มากที่สุด พร้อมเร่งสร้างวินัยและความรู้ทางการเงินที่ถูกต้องให้กับประชาชน ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน” น.ส.รัชดา กล่าว
ข้อมูลข่าวจาก ข่าวสด