แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการเยียวยาประชาชนว่าคนที่เดือดร้อนมากหรือคนยากจนนั้น ที่ผ่านมา ได้ให้สวัสดิการผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่องภายใต้โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งครอบคลุมประชากร จำนวนกว่า 13.65 ล้านคน โดยเริ่มมีการให้สวัสดิการตั้งแต่ปี 2561 ขณะที่ในช่วงโควิดแพร่ระบาดผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะได้รับความช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติมจากรัฐ รวมเป็นเงินกว่า 11,600 หรือ 11,800 บาทต่อคน
โดยแบ่งเป็นสวัสดิการหลัก ได้แก่ บรรเทาค่าครองชีพ วงเงินสิทธิค่าอุปโภค/บริโภค จำนวน 200 บาท/คน จำนวนประมาณ 3.6 ล้านคน และ 300 บาท/คน จำนวนประมาณ 10 ล้านคน บรรเทาค่าเดินทาง ได้แก่ ค่ารถเมล์ รถไฟฟ้า จำนวน 500 บาท/คน/เดือน ค่า บขส. 500 บาท/คน/เดือน และค่ารถไฟ 500 บาท/คน/เดือน นอกจากนี้ ค่าก๊าซหุงต้ม 45 บาท/คน/3 เดือน ค่าประปา 100 บาท/ครัวเรือน/เดือน ค่าไฟฟ้า 230 บาท/ครัวเรือน/เดือน
ส่วนสวัสดิการอื่นๆ อาทิ ค่าใช้จ่ายปลายปี 2561 จำนวน 500 บาท ค่าใช้จ่ายปลายปี 2562 สำหรับผู้สูงอายุเกิน 60 ปี จำนวน 500 บาท สำหรับผู้มีบุตร จำนวน 300 บาท สำหรับคนพิการ จำนวน 200 บาท ผ่านช่องกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) โดยรวมแล้วผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะได้รับความช่วยเหลือสวัสดิการหลักกว่า 2,000 บาทต่อเดือน
นอกจากนี้ ในการเยียวยาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ได้มีการเพิ่มเติมวงเงิน ค่าอุปโภคบริโภคอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยตลอดช่วงการระบาดของโควิด-19 เริ่มจากปี 2563 ถึงปัจจุบัน มีการเพิ่มวงเงินสิทธิให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ได้แก่ ระยะที่ 1 และ 2 ตั้งแต่ตุลาคม 2563-มีนาคม 2564 โดยเพิ่มให้ 500 บาทต่อคน ระยะเวลา 6 เดือน รวมเป็นวงเงินสิทธิ 3,000 บาทต่อคน และ 2.ช่วงกุมภาพันธ์ เป็นต้นมาเพิ่มเติมสิทธิวงเงินอีก 7,400/7,600 บาท ต่อคน ภายใต้โครงการเราชนะ ซึ่งใช้จ่ายได้ถึงมิถุนายน 2564
รวมทั้ง มีโครงการเพิ่มกำลังซื้อ ระยะที่ 3 ที่กำลังดำเนินอยู่ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-เดือนธันวาคม 2564 เป็นการเพิ่มสิทธิวงเงินจำนวน 200 บาทต่อคน ระยะเวลา 6 เดือน รวม 1,200 บาทต่อคน สามารถนำไปใช้จ่ายได้ที่ร้านค้าธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 โดยไม่มีเงื่อนไขที่ประชาชนจะต้องใช้จ่ายเงินของตัวเองเพื่อให้ได้รับสิทธิ
ที่มาข่าวจาก มติชนออนไลน์