เว็บไซต์ไทยรัฐได้รวบรวมไว้ดีมาก ตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์โรคโควิด-19 ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลง และส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนเป็นอย่างมาก ทั้งยังมีบทบาทสำคัญ ที่เร่งให้เกิด Digital Transformation หรือการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ รวมถึงการพัฒนาระบบดำเนินการภายในองค์กร เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้เดินหน้าต่อไป และรองรับกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วของผู้บริโภค
แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ส่งผลโดยตรงต่อความต้องการในตลาดงานโลก รวมถึงประเทศไทย เมื่อทุกภาคส่วน ต่างให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยี ผลักดันให้องค์กรเดินหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ และให้บรรลุเป้าหมาย ส่งผลให้ความต้องการบุคลากร ที่มีศักยภาพในการทำงาน หรือมีทักษะใหม่ๆ ที่สามารถตอบโจทย์กับการทำงานในยุคนี้ สูงยิ่งขึ้นไปอีก
ขณะเดียวกัน มุมมองและทัศนคติของคนหางานยุคใหม่ ก็เปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับ Employer Value Proposition (EVP) หรือ คุณค่าในองค์กรที่พนักงานต้องการ และภาพลักษณ์ขององค์กร มากยิ่งขึ้น ทั้งในเรื่องของสวัสดิการ สิทธิประโยชน์ รูปแบบการทำงาน ความยืดหยุ่นของเวลา สถานที่หรือบรรยากาศในการทำงาน
แม้ภายในอนาคตข้างหน้า วิกฤติโรคระบาดอันยาวนานนี้อาจจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่วิถีการดำเนินชีวิต และทัศนคติของผู้คน ในโลกยุคหลังโควิด คงไม่อาจกลับไปเป็นแบบเดิมได้
ความท้าทายที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ทำให้ทุกกลุ่มธุรกิจและแรงงาน ต่างต้องปรับตัวเพื่อสร้างความสำเร็จ และพร้อมรับมือกับการทำงาน มีแนวโน้มเปลี่ยนไปสู่รูปแบบของธุรกิจใหม่ (New Economy) มากยิ่งขึ้น องค์กรจะต้องมีการวางแผนด้านกำลังคน พัฒนากลยุทธ์ในการสรรหาบุคลากรใหม่ ให้ตรงกับความต้องการของผู้สมัครที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสม
เมื่อการรับสมัครงานมีความเข้มข้น และการแข่งขันสูงมากขึ้น ผู้สมัครงาน ยิ่งต้องพัฒนาตนเอง ให้เป็นบุคลากรคุณภาพ มีทักษะและคุณสมบัติ ที่ตอบโจทย์กับความต้องของตลาดงาน เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่โลกแห่งการทำงาน ในยุคของการเปลี่ยนแปลงในปี 2565 นี้ และในอนาคต
มุมมององค์กรรับคนเข้าทำงาน วัดจากอะไร
จากการสอบถาม คุณดวงพร พรหมอ่อน กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หลักๆ ต้องเป็นเรื่องของประสบการณ์การทำงาน ที่สอดคล้องกับตำแหน่งที่รับ ความสามารถในการทำงาน ความเชี่ยวชาญพิเศษ ทักษะพิเศษที่มี เพื่อที่จะมาช่วยเสริมในตำแหน่งงานที่สมัคร
อีกเรื่องคือ passion ว่ามีเป้าหมายในการทำงานเป็นอย่างไร รวมถึงทัศนคติ และ E.Q. โดยจะมีคำถามที่สามารถเก็บข้อมูลเหล่านี้ ในช่วงระหว่างที่สัมภาษณ์ได้
นอกจากนี้ ทักษะการแก้ไขปัญหา หรือ (PROBLEM SOLVING SKILLS) ก็เป็นสิ่งสำคัญ และควรเพิ่มเติมในเรื่องของความรู้ ความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ความรู้เกี่ยวกับองค์กร
สำหรับบางตำแหน่งงาน อย่างเช่น พนักงานที่เป็นหน้าร้าน อาจจะต้องมีเรื่องของบุคลิกภาพ เข้ามาเสริมด้วย เหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้สัมภาษณ์งานน่าจะมองหา
ทักษะที่ทุกคนต้องมี ในยุคของการเปลี่ยนแปลง
คุณดวงพร ระบุว่า นอกจากความสามารถแล้ว คุณสมบัติที่พนักงานทุกคนจะต้องมี สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1. Hard Skill คือ ทักษะด้านความรู้และเทคนิค เป็นทักษะความสามารถด้านอาชีพ หรือความชำนาญ ในการทำงานนั้นๆ เป็นสิ่งที่คงต้องมีและต้องใช้ เช่น ทักษะพื้นฐานทางด้านไอที Microsoft word powerpoint ทักษะทางด้านภาษา หรือทักษะในแง่ของการดูและวิเคราะห์ข้อมูล
2. Soft Skill หรือ ทักษะด้านสังคม ได้แก่ เรื่องของทักษะการสื่อสาร การพูดคุยกับคน การทำงานเป็นทีม การแก้ไขปัญหาต่างๆ รวมถึง ทักษะในการต่อรองเจรจา
3. Meta Skill เป็นทักษะที่ในยุคนี้ แต่ละคนควรจะมี นั่นคือ ความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากเป็นยุคของการเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นต้องรู้จักและเข้าใจตัวเอง วิเคราะห์ให้ได้ว่าจุดแข็ง-จุดอ่อน ของตัวเองคืออะไร แล้วต้องหาอะไรมาเสริม
ในแง่ของความคิดสร้างสรรค์ รู้จักการแก้ไขปัญหา การปรับตัวเองให้รู้จักเรียนรู้ไปตลอด เพราะเวลาที่เราได้เข้าไปทำงานแล้ว ต้องมีการหาความรู้ใหม่เพิ่มเติมต่อไปเรื่อยๆ
มีการยืดหยุ่นทางความคิด กล้าที่จะลองผิดลองถูก เรียนรู้จากสิ่งที่เคยทำผิดพลาด เพื่อที่จะพัฒนาตัวเองต่อไป เรียนจบมหาวิทยาลัยแล้ว ไม่ได้หมายความว่า ความรู้จะจบแค่นั้น เราต้องหาเพิ่มไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นสกิลกลุ่มพิเศษที่ผู้สมัครก็ควรจะต้องเพิ่มขึ้นมาในยุคนี้
พนักงานแบบไหนที่บริษัทต้องการ
คุณดวงพร กล่าวว่า ที่สำคัญแน่นอน พนักงานต้องรับผิดชอบในหน้าที่การงาน ที่ได้รับมอบหมายเป็นหลัก ใช้ความรู้ความสามารถของตัวเองกับงานให้เต็มที่ อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องของพลังบวก ที่จะนำเข้ามาสู่องค์กรและทีม เพราะว่าจริงๆ แล้ว ทุกๆ คน ไม่ใช่แค่สำหรับองค์กร เวลามีพลังบวกเข้ามา จะทำให้องค์กรมีความรู้สึกที่ดีขึ้น
แม้ว่าจะเป็นหนึ่งในพนักงาน ก็สามารถพาทีมก้าวไปข้างหน้าได้ มีทักษะการแก้ไขปัญหาที่ดี สามารถทำงานร่วมกันเป็นทีมได้ น่าจะเป็นตัวหลักที่บริษัททุกบริษัทอยากได้ ที่สำคัญคือ เรื่องของจริยธรรม อยากได้พนักงานที่ให้คุณค่าในด้านนี้ด้วย
คำถามที่มักใช้ถามผู้สมัครงาน
คุณดวงพร ระบุว่า คำถามจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นคำถาม ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับผู้สมัคร เรื่องประสบการณ์การทำงาน หรือให้เล่าประวัติตัวเองคร่าวๆ หรือทำไมถึงเลือกสมัครตำแหน่งนี้ ทำไมเลือกบริษัทนี้ แล้วคุณสมบัติที่คุณมีอยู่สามารถเอามาช่วยงานบริษัทได้อย่างไรบ้าง จุดอ่อน-จุดแข็งของคุณคืออะไร จะเป็นการถามลึกไปเรื่อยๆ เพื่อสอบถามข้อมูลว่า ผู้สมัครมีคุณสมบัติที่ตอบโจทย์กับตำแหน่งงานนี้หรือไม่
อีกส่วนหนึ่ง คือ คำถามเพื่อทดสอบวิสัยทัศน์ ทัศนคติ เพื่อประเมินพฤติกรรมว่า จะเข้ามาร่วมการทำงานกับทีมได้ไหม เรียกคำถามเซตนี้ว่าคำถามเชิงจิตวิทยา จะเป็นคำถามที่ถามไปถึงว่า เหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นแล้ว คุณแก้ไขปัญหาอย่างไร โดยคำถามเชิงจิตวิทยาพวกนี้ ก็จะใช้ตอบเรื่อง ทัศนคติ หรือ E.Q. ว่าเป็นยังไง โดยคำถามประเภทนี้ แบ่งได้เป็นอีก 2 กลุ่ม คือ เชิงพฤติกรรม และเชิงสถานการณ์
- คำถามเชิงพฤติกรรม เช่น ให้ผู้สมัครเล่าให้ฟังถึงโปรเจกต์ที่คิดว่าชอบที่สุด หรือท้าทายที่สุดในการทำงานก่อนหน้านี้ว่าเป็นอย่างไร และอาจถามถึงบทบาทของคุณในงานนั้นๆ ว่าทำอะไรบ้าง หรือถามต่อไปว่า แล้วเคยมีความขัดแย้งกับภายในทีมไหม ถ้ามีแล้วจัดการอย่างไร หรือเป็นคำถามที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะซักต่อไปให้รู้ว่า คนคนนี้เวลาทำงานร่วมกับทีมเป็นอย่างไร
- คำถามเชิงสถานการณ์ เป็นคำถามในลักษณะว่า ถ้าทำงานไปแล้ว เจออุปสรรคจะแก้ไขปัญหาอย่างไร เพื่อที่จะทำให้ผู้สมัครตอบคำถามว่า เขาจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร แล้วถ้าเป้าหมายไม่เป็นตามที่คิด จะจัดการกับมันอย่างไร อันนี้เป็นเรื่องของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วให้เขาอธิบายมาว่าสิ่งที่เขาทำ ณ ตอนนั้นเป็นอย่างไร
วิธีจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำงาน
คุณดวงพร กล่าวว่า วิธีจัดการกับปัญหานั้นขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กร แต่โดยทั่วไปต้องยึดกฎระเบียบขององค์กรเป็นหลัก ฝ่ายบุคคลหรือหัวหน้างาน จะต้องมีการพูดคุย สอบถามสาเหตุของปัญหา หาข้อสรุปและหาทางแก้ไขปัญหา เพื่อให้ทีมสามารถทำงานไปด้วยกันได้
ฝ่ายบุคคลหรือหัวหน้างานเอง ก็ควรจะต้องสร้างกิจกรรม ที่เสริมสร้างความสัมพันธ์ภายในองค์กร หรือภายในทีมงาน เพื่อที่จะทำให้ทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น เพราะว่าทุกๆ องค์กรต้องการทีมเวิร์ก ไม่ได้ต้องการคนเก่งคนเดียว เวลาทำงานร่วมกัน ก็ต้องปรับตัวเข้าหากัน
มุมมองของผู้สมัครงาน สิ่งที่ผู้สมัครงานต้องเตรียมตัว เมื่อต้องสอบสัมภาษณ์
คุณดวงพร กล่าวว่า แรกสุดเลย เราอยากสมัครตำแหน่งอะไร เราต้องศึกษาตำแหน่งนั้นว่า เขาต้องการคนเข้าไปทำอะไร แล้วต้องการคนที่คุณสมบัติอะไรบ้าง จากนั้นมาดูว่า ตัวเราเองตอบโจทย์ในแง่ของคุณสมบัติ หรืออาจจะต้องไปเตรียมอะไรเพิ่มหรือไม่
ถ้าเป็นน้องจบใหม่ จะตอบโจทย์ตรงนี้ได้ ก็ต้องไปดูว่าจะเสริมเพิ่มอย่างไรบ้าง แต่อยากจะบอกว่า ถ้าเรามีเป้าว่าอยากจะสมัครงานตำแหน่งนี้ ลองไปดูเลยว่าเราจะเตรียมตัวทำให้ได้ Job description หรือมีคุณสมบัติตามที่เขาต้องการ ต้องเตรียมอะไรบ้าง
สำหรับคนที่มีประสบการณ์มาแล้ว อาจจะเลือกงานในสายงานที่ตัวเองเคยทำอยู่ ต้องเตรียมตัวเพื่อตอบคำถามให้สอดคล้องกับหน้าที่การงานที่เราไปสมัคร
วันที่ไปสมัคร หรือสัมภาษณ์งาน ถ้าไปเจอหน้ากัน ณ สถานที่ตั้ง แนะนำให้ไปก่อนเวลา เช็กสถานที่ เสื้อผ้าหน้าผมให้เรียบร้อย ถ้าออนไลน์ เช็กเทคโนโลยีให้เรียบร้อย ว่าอุปกรณ์ที่ใช้ สัญญาณเรียบร้อยดีไหม เราจะได้พร้อมตอนที่สัมภาษณ์
ตอบคำถามแบบไหน ให้ถูกใจคนสัมภาษณ์
การตอบคำถาม ต้องตอบข้อมูลจริงๆ โดยเริ่มต้นทักทายผู้สัมภาษณ์ ทำให้เราพูดคุยกันได้ง่ายๆ ต้องไม่เสียงแข็งทักทายผู้สัมภาษณ์ ยกตัวอย่างประกอบกับคำถามนั้นๆ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร ให้คำตอบกระชับ ไม่เยิ่นเย้อ ควบคุมเวลา เพราะว่าเวลาเรามีอยู่ไม่เยอะ อย่าตอบสั้นเกินไป ตอบให้มีเนื้อหา แต่กระชับ เพื่อให้ผู้สัมภาษณ์เห็นภาพได้ว่าจะต้องทำอะไร
Resume ที่ดีควรเป็นแบบไหน
วิธีการเขียน Resume หรือประวัติโดยย่อที่ดี มีดังนี้
1. สรุปเนื้อหาเกี่ยวกับประสบการณ์ การทำงานของตัวเองให้กระชับ มีจุดเด่นที่จะนำเสนอเกี่ยวกับตัวเองให้ชัด
2. รูปภาพมีได้ แต่ให้เหมาะสมกับงานที่เราจะไป ถ้าเป็นงานทางด้านสายครีเอทีฟ แน่นอนว่าคงต้องมาจัดเต็ม ต้องโชว์ Creativity หรือความคิดสร้างสรรค์เต็มที่ แต่ถ้าเป็นสายบริษัททั่วไป อาจจะเป็นรูปภาพให้เขาเห็นว่าเราเป็นอย่างไร
3. ใช้อีเมลชื่อเป็นทางการ โดยอาจใช้เป็นชื่อจริงหรือนามสกุล
4. ภาษาที่ใช้เขียนต้องเป็นทางการ
5. เลือกใช้ Keyword คือ คำหรือวลี ที่เกี่ยวข้องกับสายงานที่ตัวเองทำ เพราะการเขียนเรซูเม่ อาจจะเขียนยาวไป แต่ไม่ได้ไปจับจุดว่า คีย์เวิร์ดอะไร ที่จะไปตอบโจทย์ในตำแหน่งงานที่เราอยากสมัคร
6. จัดเรซูเม่ให้เป็นระเบียบ ออกแบบ และแบ่งหมวดหมู่ชัดเจน เช่น ปีไหนทำอะไรมาบ้าง
ทั้งนี้ จ๊อบส์ดีบี (JobsDB) ยังได้แนะนำเทคนิควิธีการเขียนอีกมากมาย โดยสามารถค้นหาเพิ่มเติมได้ที่ https://th.jobsdb.com/th/th
เด็กจบใหม่ ต้องทำอย่างไร ให้เตะตาบริษัท
เมื่อถามว่า เด็กจบใหม่ต้องทำอย่างไรให้โดดเด่น เตะตาบริษัทและเป็นที่ต้องการของตลาด คุณดวงพร เปิดเผยว่า จริงๆ แล้วตลาดงานยังต้องการคนเข้าไปอีกมาก แต่เราอาจจะมองว่าสิ่งที่เรียนมาไม่ตอบโจทย์หรือเปล่า ซึ่งมีวิธีที่จะเข้าไปทำงานในตำแหน่งที่เราสนใจได้ ถ้าเตรียมตัว
อย่างแรก คือ ศึกษาก่อนว่าอยากทำอะไร แล้วก็ดูว่าคุณสมบัติที่เขาต้องการคืออะไร อยากให้เตรียมตัว อัปสกิล เพิ่มความรู้ให้ตัวเอง สมมติเขาต้องการคนทางด้าน Digital Marketing หรือการทำการตลาดโดยใช้ช่องทางออนไลน์ ผ่านสื่อดิจิทัลในการเข้าถึงลูกค้า เราต้องไปหาศึกษาเพิ่มเติม
พวกนี้ไม่ได้มีสอนในมหาวิทยาลัยแน่นอน หรือมหาวิทยาลัยอาจจะมีสอนในระดับหนึ่ง จึงควรไปสอบเพื่อหา certificate หรือ ประกาศนียบัตร ใบรับรองเพิ่มเติมได้ อย่างในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ที่มี E-learning หรือการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีหรือออนไลน์ ให้ศึกษาเองอยู่แล้ว แถมได้รับ certificate มาอีกด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นใบเบิกทางที่ดี
ถ้าไม่มีประสบการณ์ จะทำอย่างไรให้โดดเด่น
คุณดวงพร แนะนำว่า ให้สร้าง Portfolio แฟ้มสะสมผลงานของตัวเองขึ้นมา เราจะขายจุดเด่นของตัวเองอย่างไร นอกจากจบมา เกรดเป็นอย่างไร ถ้ามีประสบการณ์ก็ต้องเน้นว่า ประสบการณ์ที่เราเคยทำอะไรมา ที่ตอบโจทย์กับตำแหน่งนั้น
ถ้ายังไม่เคยมีประสบการณ์ ลองดูหาความรู้เพิ่มเติม ถ้าเคยฝึกงานก็ใส่ข้อมูลเข้าไปในเรซูเม่ เพื่อที่จะได้ให้เราชัดเจนขึ้นว่า สิ่งที่เราอยากจะไปทำคืออะไร หรือลองไปเรียนออนไลน์ สอบ certificate หาจุดเด่นเพิ่มเติมขึ้นมา
แค่นี้ตัวเรซูเม่ก็สวยและใช้สมัครงานได้ แม้ว่าไม่ได้เรียนจบสายตรงมา แต่ถ้าตั้งใจจริง หาความรู้เพิ่มเติม ลองทำในสายที่เราอยากทำ ตรงนี้จะเป็นตัวที่น่าจะประกอบกันแล้วทำให้บริษัทนั้นเลือกเราได้ดีขึ้น
เด็กจบใหม่ เรียกเงินเดือนเท่าไร ถึงจะเหมาะสม
เมื่อถามถึงฐานเงินเดือนสำหรับเด็กจบใหม่ คุณดวงพรกล่าวว่า ต้องเริ่มตัวเองก่อน ว่าอยากจะไปทำอะไร วางแผนอาชีพไปในทางไหน จากนั้นค้นหารายงานอัตราเงินเดือน หรือ Salary Report ว่าในแต่ละตำแหน่งงานเป็นอย่างไร ในตลาดงานเมืองไทยปีนี้ประมาณเท่าไร แล้วใช้ฐานเงินเดือนนั้นๆ เป็นจุดเริ่มต้นในการพูดคุย
ในบางที่อาจระบุเงินเดือนไว้ ในประกาศรับสมัครงาน ว่ามีฐานเงินเดือนประมาณเท่าไร จากนั้นให้เราพิจารณาคุณสมบัติ ว่าตรงตามที่บริษัทประกาศรับสมัครหรือยัง ถ้าคิดว่าเราได้ ก็จะเพิ่มความมั่นใจได้ว่า เราสามารถเรียกเงินตามฐานเงินเดือนนั้นได้ หรือเรียกสูงขึ้นอีก ถ้ามี certificate เพิ่มขึ้นมา ตามที่เราต้องการ
ทั้งนี้ จ๊อบส์ดีบี (JobsDB) ได้เผยรายงานอัตราเงินเดือน ของพนักงานไทยประจำปี 2565 เมื่อเทียบกับตลาดเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และฮ่องกง พบว่า ประเทศไทยมีการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเดือนค่าเฉลี่ยสูงที่สุดอยู่ที่ 43.1%
ซึ่งภาพรวมการรายงานเงินเดือน ในธุรกิจ SMEs เทียบกับเงินเดือนองค์กร ของระดับเจ้าหน้าที่ คือ ผู้ที่มีประสบการณ์การทำงาน น้อยกว่า 1 ปี โดยแบ่งตามสายงาน มีดังนี้
คนมีประสบการณ์กับการต่อรองเงินเดือน
คุณดวงพร กล่าวว่า คนที่มีประสบการณ์การทำงานแล้ว ถ้าสมัครงานใหม่ มีสิทธิ์ที่จะต่อรองเงินเดือนแน่นอน แต่ถ้าทำงานอยู่ที่เดิม เราจะมีเงินเดือนเพิ่มขึ้นอย่างไรบ้าง ให้มองในแง่การขยับขยายหน้าที่การรับผิดชอบ ถ้าเราทำงานอยู่ตำแหน่งนี้ ก็ต้องตั้งเป้าว่าจะโตไปยังไงต่อ ถ้าเราแสดงให้เห็นว่า สามารถและพร้อมที่จะรับความรับผิดชอบที่เพิ่มมากขึ้น ขอบข่ายงานที่เพิ่มขึ้น ตรงนั้นก็เป็นจุดที่หัวหน้างาน น่าจะพิจารณาให้ความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้น หรือเงินเดือนก็เพิ่มมากขึ้นได้
หรือไปอัปสกิลที่ไม่ต่างจากน้องจบใหม่ คือเวลาไปทำงานมาแล้วหยุดนิ่ง ไม่ได้อัปสกิลก็จะตามน้องจบใหม่ไม่ทัน ต้องไปหาทางทำให้ตัวเองมีสกิลที่เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว พอมีสกิลที่เพิ่มขึ้น ก็ทำงานได้เพิ่มมากขึ้น ไม่ต่างกันถ้าขยาย scope of work หรือขอบเขตงานได้ ก็สามารถคุยกันเรื่องของเงินเดือนได้
ที่สำคัญผลการทำงานของเราดี หรือดีกว่าที่คาดหวัง ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้หัวหน้างาน หรือบริษัทเพิ่มเงินเดือนให้ได้
ฝากถึงคนที่กำลังจะเรียนจบ และคนที่กำลังมองหางาน
สำหรับน้องๆ ที่กำลังจะจบ อาจจะรู้สึกตื่นเต้น ที่จะเข้ามาสู่โลกแห่งการทำงานแล้ว คำแนะนำที่ให้ ก็คงเป็นเรื่องของการเตรียมตัว คือ ค้นหาว่าเราอยากจะไปทำอะไร แล้วศึกษาให้ชัดว่า ข้อมูลทำตำแหน่งนี้ คุณสมบัติที่เรามี จะไปสร้าง Portfolio อย่างไร เพื่อที่จะนำเสนอขายจุดแข็งเรา ถ้าเคยทำกิจกรรมที่มหาวิทยาลัย เคยช่วยจัดงาน พวกนี้เป็นประโยชน์ต่อการสมัครงานทั้งหมด ใช้เป็นจุดแข็ง ในการนำเสนอตัวเอง และความสามารถได้ในการสมัครงาน ถ้าเวลาเราเตรียมตัวพร้อมก็จะมีความมั่นใจ เพราะฉะนั้นจะต้องเตรียมตัวให้พร้อม
เรื่องคำถาม บางคนอาจจะตื่นเต้น การสัมภาษณ์ครั้งแรกซ้อมก่อนได้ ลองเล่าเกี่ยวกับตัวเอง ถ้าไม่เคยเล่ามาก่อน ลองซ้อมว่าเป็นอย่างไร เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเราเอง จะได้สื่อสารให้กับผู้สัมภาษณ์ได้
ส่วนคนที่มีประสบการณ์อยู่แล้ว ลองมองหาดูว่าเราอยากจะเติบโตไปทางไหน สายงานไหน เชื่อว่าทุกคนต้องการการเติบโตอยู่แล้ว ฉะนั้นลองดูว่าเป้าถัดไป เราอยากจะเติบเป็นอย่างไร ศึกษาตำแหน่งงานว่าเราสามารถทำตรงนั้นได้ไหม ถ้ายังไม่ได้ ลองฝึกฝน เตรียมพร้อม เพื่อให้เรามีคุณสมบัติที่ตอบโจทย์ตำแหน่งที่เราอยากจะไปสมัครได้ ทุกอย่างก็คือการเตรียมตัวให้พร้อม
เชื่อว่าทุกคนสามารถหางานที่ตัวเองชอบได้ แล้วก็ถ้าวางแผนการเติบโตในแง่สายอาชีพดีๆ ก็น่าจะมีความสนุกในการทำงานด้วย.
ผู้เขียน : Prapasorn Chalamram
กราฟิก : Chonticha Pinijrob
บทความข่าวจาก : ไทยรัฐ