เปิดแนวทางการปลูก นำเข้า และพกติดตัว “กัญชา กัญชง” หลังปลดล็อกประชาชนปลูกเองได้ เริ่ม 9 มิ.ย.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 9 มิถุนายน 2655 “กัญชา” จะได้รับอนุญาตให้ประชาชนสามารถปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ในการดูแลสุขภาพเบื้องต้นได้อย่างถูกกฎหมาย ภายหลังประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ทำให้ทุกส่วนของกัญชา กัญชง ไม่ใช่ยาเสพติดประเภท 5 อีกต่อไป
แต่ก่อนที่จะนำมาปลูก “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมคำถาม และคำตอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ถึงแนวทางการปลูกและนำเข้า/นำติดตัว เพื่อใช้เฉพาะตนของกัญชา กัญชง
1. การปลูกต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายใด หรือไม่
ตอบ : ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ไม่ต้องได้รับการปลูกตามกฎหมายใด แต่ขอความร่วมมือให้ประชาชนที่ต้องการปลูกกัญชา กัญชง แจ้งข้อมูลผ่านระบบแอปพลิเคชั่น “ปลูกกัญ” ที่ อย.จัดทำขึ้น
2. การนำเข้าสารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชา กัญชง สามารถกระทำได้หรือไม่ อย่างไร
ตอบ : ห้ามนำเข้าสารสกัด ยกเว้นกรณีดังต่อไปนี้ โดยต้องขออนุญาตตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
- กรณีเพื่อการศึกษาวิจัย
- กรณีเป็นหน่วยงานรัฐเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์
3. สารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชา กัญชง ที่เป็นสารควบคุมคุณภาพในการตรวจวิเคราะห์และควบคุมคุณภาพของการตรวจสารเสพติดในร่างกาย สำหรับใช้เป็นเครื่องมือแพทย์ จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 หรือไม่ และการนำเข้าต้องดำเนินการอย่างไร
ตอบ : ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษ ในประเภท 5 แต่ไม่จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ ดังนั้นการนำเข้าต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องมือแพทย์
4. การนำเข้าผลิตภัณฑ์ (Finished product) ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชา กัญชง และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของส่วนต่าง ๆ ของพืชกัญชา กัญชง ต้องขอรับอนุญาตตามกฎหมายใด
ตอบ : ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 การนำเข้าจึงไม่ต้องขออนุญาตนำเข้าตามประมวลกฎหมายยาเสพติด แต่ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้น ๆ โดยพิจารณาจากวัตถุประสงค์การใช้งานบนฉลากผลิตภัณฑ์หรือความมุ่งหมายของผู้ผลิต ดังนี้
- กรณีอาหาร จัดเป็นอาหารห้ามนำเข้าตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 424 พ.ศ.2564 ที่ออกตามมาตรา 6(8) ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 20,000 บาท
- กรณีเครื่องสำอาง จัดเป็นเครื่องสำอางที่ห้ามนำเข้าตามประกาศฯ ที่ออกตามความในมาตรา 6(1) ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามความในพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2558
- กรณีการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่น เช่น ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์นั้น ๆ
5. การนำเข้าเมล็ดกัญชา กัญชง และส่วนอื่น ๆ ของพืชกัญชา กัญชง เช่น เปลือก ลำต้น ใบ เส้นใย กิ่งก้าน ราก ยอดหรือช่อดอก มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ หรือเป็นวัตถุดิบในการผลิตสารสกัดจากกัญชา กัญชง ต้องขอรับอนุญาตตามกฎหมายใด
ตอบ : ต้องขอรับอนุญาต ดังนี้
- ขออนุญาตนำเข้าตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 และกรณีนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง ต้องขออนุญาตนำเข้าตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ.2518 ด้วย
- เมื่อได้รับอนุญาตตามข้อ 1 แล้ว หากจะนำพืชกัญชา กัญชงให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้น ๆ โดยกรณีนำมาผลิตเป็นอาหาร ไม่สามารถนำเข้าได้ เนื่องจากจัดเป็นอาหารห้ามนำเข้า กรณีนำมาผลิตเป็นเครื่องสำอาง ไม่สามารถนำเข้าได้ เนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่ห้ามนำเข้า และกรณีนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่น ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ซึ่งหากได้รับอนุญาตให้ผลิตถูกต้องตามกฎหมายแล้ว การพิจารณาตรวจสอบนำเข้าเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ก็สามารถดำเนินการได้เช่นเดียวกัน
ปลูกกัญชา กัญชงเพื่อจำหน่ายทำอย่างไร
ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข ยังไม่มีไกด์ไลน์สำหรับการปลูกกัญชาเชิงพาณิชย์ ในช่วงก่อนที่ พ.ร.บ. จะบังคับใช้ แต่ตามร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. … การปลูกเพื่อจำหน่ายมีแนวปฏิบัติดังนี้
ผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือขาย ต้องขออนุญาตจากเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือผู้ซึ่งเลขาฯ อย. มอบหมาย โดยใบอนุญาตแต่ละชนิดจะมีค่าธรรมเนียมตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท ขึ้นอยู่กับชนิดใบอนุญาต เช่น ใบอนุญาตปลูก ค่าธรรมเนียม 50,000 บาท ใบอนุญาตสกัด ค่าธรรมเนียม 50,000 บาท ใบอนุญาตจำหน่าย ค่าธรรมเนียม 5,000 บาท เป็นต้น
สำหรับผู้ที่ผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย โดยไม่มีใบอนุญาต จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่มีใบอนุญาตเดิมที่ออกตามกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาต ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะ กัญชง พ.ศ. 2563 และกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาต ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะ กัญชา พ.ศ. 2564 ให้ถือเป็นใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.ใหม่นี้ และใช้ได้จนสิ้นอายุใบอนุญาต
ที่มาข่าว ประชาชาติธุรกิจ