วันนี้(8 มิถุนายน 2565)เวลา10.45น. นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม พร้อมด้วยคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดมหาสารคาม ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของจังหวัดมหาสารคาม พร้อมให้สัมภาษณ์รายการโทรทัศน์ “ถนนปลอดภัยต้นแบบ”บริเวณถนนหมายเลข 213 ถนนถีนานนท์ มหาสารคาม-กาฬสินธุ์ (บริเวณ ห้วยคะคาง) ซึ่งถือเป็นจุดเสี่ยงจุดอันตรายที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำปัญหา เข้าสู่การประชุมของคณะกรรมการ ศปถ.จังหวัด เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยเริ่มจากการแก้ไข แบบชั่วคราว ไปจนถึงการแก้ไขอย่างถาวร จนเป็นถนนปลอดภัยตนแบบของจังหวัดมหาสารคาม ทั้งนี้ จากการสำรวจ จังหวัดมหาสารคามมีจุดเสี่ยงจุดอันตรายที่เกิดอุบัติเหตุบ่อย จำนวน 178 จุด โดยได้ดำเนินการแก้ไขแล้ว 84 จุด
นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยว่า มาตรการและแนวทางในการดำเนินงานด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของจังหวัดมหาสารคาม เป็นการมองสภาพปัญหาหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนให้รอบด้านทั้ง คน รถ ถนน และสิ่งแวดล้อม โดยนำปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในพื้นที่ สู่การแก้ไขปัญหาผ่านเวที ศปถ.จังหวัด โดยใช้แนวคิด ต้นน้ำ กลางน้ำ และ ปลายน้ำ เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยเริ่มจากต้นน้ำ คือครอบครัว ชุมชน การนำแนวทาง “ประชารัฐ” มาใช้ในการแก้ไขปัญหา การสร้างชุมชนเป็นฐานด้านการป้องกันและ ลดอุบัติเหตุในพื้นที่ การสร้างกติกาชุมชน/ด่านชุมชน ที่เข้มแข็ง กลางน้ำ คือ ระหว่างทางหรือระหว่างการเดินทาง ต้องเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย การสร้างความปลอดภัยทางวิศวกรรมจราจร ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขจุดเสี่ยงที่เกิดจากถนน ไฟส่องสว่าง สภาพแวดล้อมต่างๆ ของสองข้างทาง เช่น การดำเนินการแก้ไขการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ในถนนหมายเลข 213 ถนนถีนานนท์ มหาสารคาม-กาฬสินธุ์ (บริเวณ ห้วยคะคาง) ซึ่งถือเป็นจุดเสี่ยงจุดอันตรายที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้นำปัญหา เข้าสู่การประชุมของคณะกรรมการ ศปถ.จังหวัด เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยเริ่มแรกจากการแก้ไข แบบชั่วคราว ไปจนถึงการแก้ไขอย่างถาวร จนเป็นถนนปลอดภัยตนแบบของจังหวัดมหาสารคาม สำหรับ ปลายน้ำ คือ จุดหมายที่ผู้ใช้รถใช้ถนนจะไปถึง ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษา สถานพยาบาล สถานที่ราชการ จังหวัดได้มีการแจ้งให้หน่วยงานทุกภาคส่วนจัดทำคำรับรองในการปฏิบัติตนตามกฎหมายจราจร และการจัดทำมาตรการความปลอดภัยทางถนนในองค์กร เพื่อให้ผู้ที่จะเดินทางเข้าสู่พื้นที่ดังกล่าวต้องปฏิบัติตามกฎจราจร โดยเป็นการดำเนินการแบบการบูรณาการกันของหน่วยงานทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ ภาคเอกชน ท้องถิ่น และท้องที่ ซึ่งการดำเนินงานทุกด้านเน้นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ในพื้นที่ได้รับทราบข้อมูลให้มากที่สุด
ดังนั้นจังหวัดมหาสารคาม จึงมองว่าการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ของจังหวัดมหาสารคามที่แท้จริง และยั่งยืน จะต้องเกิดจากครอบครัว ชุมชน และหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง ตามแนวทาง “ประชารัฐ”นอกจากนี้ยังได้มีการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์ลดปัญหาอุบัติเหตุทางถนน และดำเนินการผลักดันไปสู่ถนนปลอดภัยต้นแบบได้ ให้หน่วยงานราชการ รัฐวิสากิจ อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถาบันการศึกษา ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคามทุกแห่ง จัดทำมาตรการองค์กรด้านความปลอดภัยทางถนน เพื่อกำหนดเป้าหมาย และวิธีการในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนให้กับบุคลากร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัคร นักเรียน นักศึกษา ฯลฯ โดยให้เน้นในเรื่องการจัดการกับพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน อาทิเช่น การสวมหมวกนิรภัยในผู้ขับขี่และโดยสารรถจักรยานยนต์ การเมาสุราแล้วขับรถ การขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เป็นต้น ตลอดจนส่งเสริมให้จัดทำประกันภัยภาคบังคับ หรือที่เรียกว่า “ประกันภัย พ.ร.บ.” เพื่อการเยียวยาภายหลังเกิดเหตุ ทั้งนี้ ขอให้ถือว่าการดำเนินการดังกล่าว เป็นวาระสำคัญของจังหวัดมหาสารคาม ที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญในการดำเนินงาน
วิศิษฎ์ เย็นศิริ-ข่าว/เกศริน-ภาพ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดมหาสารคาม