รัฐบาล เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเฉียงเหนือ (กรุงเทพฯ-หนองคาย) ระยะที่ 1 ให้แล้วเสร็จตามแผน คาดเปิดบริการ ปี 70
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา อยู่ระหว่างการก่อสร้างงานโยธาของโครงการระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ -นครราชสีมา ระยะทาง 250.77 กิโลเมตร ขณะนี้สามารถดำเนินการได้ตามแผนงานที่กำหนดไว้ โดยโครงการฯ ประกอบด้วย 15 สัญญา แยกเป็น งานโยธา 14 สัญญา และงานระบบ 1 สัญญา โดยกระทรวงคมนาคม กำลังเร่งดำเนินการเพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2570
สำหรับความคืบหน้าของงานโยธา 14 สัญญา ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา ได้แก่ ช่วงกลางดง-ปางอโศก ซึ่งเป็นพื้นที่ทดสอบรูปแบบการก่อสร้าง และทดสอบวัสดุก่อสร้างไทย เพื่อเทียบมาตรฐานจีน ภายใต้การก่อสร้างของกรมทางหลวง ระยะทาง 3.5 กม. และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 9 สัญญา ได้แก่
1) ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม.
2) งานอุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง ซึ่งมีจุดเด่นคืองานก่อสร้างอุโมงค์ยาวรวม 8 กิโลเมตร และการก่อสร้างทางรถไฟระยะทางรวม 12.23 กิโลเมตร
3) ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 26.10 กม.
4) ช่วงลำตะคอง-สีคิ้วและช่วงกุดจิก-โคกกรวด ซึ่งมีจุดเด่นคือ มีงานก่อสร้างทางรถไฟระยะทางยาวที่สุดในโครงการ ระยะทาง 37.45 กม.
5) ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ซึ่งเป็นงานก่อสร้างสถานีนครราชสีมา และการก่อสร้างทางรถไฟ ระยะทาง 12.38 กม.
6) ช่วงดอนเมือง-นวนคร ประกอบด้วย งานโครงสร้างทางรถไฟยกระดับ ระยะทางรวม 21.80 กม.
7) ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กม.
ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ประกอบด้วย งานโครงสร้างทางรถไฟ ระยะทางรวม 31.60 กม. แบ่งเป็น คันทางระดับดิน 7.02 กม. ทางยกระดับ 24.58 กม.
9) ช่วงสระบุรี-แก่งคอย ซึ่งมีจุดเด่นคืองานก่อสร้างสถานีสระบุรี และการก่อสร้างทางรถไฟระยะทางรวม 12.99 กิโลเมตร
ล่าสุดราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน เพื่อดำเนินการก่อสร้างตามโครงการฯ ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป มีกำหนดระยะเวลา 4 ปี
ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์