ในช่วงนี้เป็นช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยทั้งร้อน ทั้งฝนตก และหลายพื้นที่ยังมีน้ำท่วมขัง ดังนั้นควรจะต้องระมัดระวังเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะโรคภัยที่มักมาพร้อมกับฤดูฝน อย่าง “โรคไข้เลือดออก” เพราะเมื่อฝนตก เกิดน้ำขังก็จะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ที่สำคัญโรคไข้เลือดออกสามารถเป็นได้ ทุกเพศทุกวัย
ข้อมูลในปี 2559 พบว่าในบ้านเรามีผู้ป่วยไข้เลือดออกถึง 63,310 ราย เสียชีวิต 61 ราย และในปีนี้ เพียงแค่ 5 เดือนแรก พบผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้ว 9,717 ราย เสียชีวิต 14 ราย ซึ่งผู้ที่ ติดเชื้อส่วนใหญ่แล้วจะเป็นวัยรุ่น ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่
ส่วนสาเหตุและการแพร่ระบาดนั้น ไข้เลือดออกเกิดมาจากเชื้อไวรัสเดงกีที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ส่งผลให้ โรคนี้มีการระบาดได้อย่างรวดเร็ว และ ปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้มีการแพร่ะบาดและขยายพื้นที่เกิดโรคออกไปได้อย่างกว้างขวาง ได้แก่ การเพิ่มของจำนวนประชากร โดยเฉพาะการที่มีชุมชนเมืองเพิ่มมากขึ้น มีการ เคลื่อนไหวของประชากร และมียุงลายมากขึ้น ตามจำนวนการเพิ่มของภาชนะขังน้ำที่คนเป็นผู้ทำขึ้น
โดยยุงลายที่เป็นพาหะไข้เลือดออกมีเพียง 2 สกุลคือยุงลายบ้าน และยุงลายสวน โดยยุงลายบ้านจะอาศัยอยู่ในบริเวณบ้านที่เป็นพาหะนำโรค เพาะพันธุ์ในภาชนะ น้ำใส นิ่ง ส่วนยุงลายจะอาศัยอยู่ในป่า หรือสวน ตามตอไม้ที่มีน้ำขังจากฝนที่ตก ลงมา ซึ่งยุงลายจะชอบกัดคนในเวลากลางวัน
หลายคนอาจจะเข้าใจว่ายุงลายชอบอาศัยอยู่ในท่อหรือน้ำเน่าเสีย แต่ความจริงแล้วยุงลายเป็นยุงสะอาดที่ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในภาชนะตาม บ้านเรือนมากว่า
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดี กรมควบคุมโรค กล่าวว่าจากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-7 ส.ค.2560 พบผู้ป่วย 27,765 ราย เสียชีวิต 38 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 15-24 ปี รองลงมา 10-14 ปี และ 25-34 ปี ตามลำดับ
อาชีพส่วนใหญ่เป็น นักเรียน รองลงมา คือรับจ้าง จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรก คือ จ.สงขลา พัทลุง ตาก ภูเก็ต และปัตตานีในสัปดาห์นี้ ได้รับแจ้งผู้ป่วยสงสัยด้วยโรคไข้เลือดออกเสียชีวิต 3 ราย คือ จ.พิษณุโลก นครศรีธรรมราช และยะลา”
“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน มีฝนตกอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำขังตามภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลายกรมควบคุมโรคจึงขอ แนะนำประชาชนให้ดูแลตนเองและ บุตรหลานของท่าน โดยไม่ให้ถูกยุงกัด ด้วยการทายากันยุง นอนในมุ้งหรือ ติดมุ้งลวด และช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในครัวเรือนโดยใช้ มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ดังนี้
- เก็บบ้านให้สะอาดปลอดโปร่ง ไม่ให้ยุงลายอาศัย
- เก็บขยะและภาชนะต่างๆ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย
- เก็บน้ำโดยใช้ฝาปิดให้มิดชิดเพื่อไม่ให้ยุงลายวางไข่ ทำต่อเนื่องทุกสัปดาห์เพื่อตัด วงจรของลูกน้ำยุงลาย
เพื่อเป็นการป้องกัน 3 โรค คือ 1. โรคไข้เลือดออก 2. โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และ 3. ไข้ปวดข้อยุงลาย ที่สำคัญให้สังเกต อาการของตนเองและบุคคลในครอบครัวอย่างใกล้ชิด เช่น มีไข้สูงลอย (มากกว่า 38 องศาเซลเซียส) เบื่ออาหาร อาเจียน ไม่ไอ และไม่มีน้ำมูก หากมีอาการไข้ แนะนำ ให้ทานยาพาราเซตามอน ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์ หากมีข้อสงสัย สามารถ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทรสายด่วน กรมควบคุมโรค 1422
“ดูแลตนเอง บุตรหลานไม่ให้ถูกยุงกัดและช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย”
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ