เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ว่า ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานพัฒนาผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพควบคุมเป็นการชั่วคราว ให้มีมาตรฐานความรู้วิชาชีพเพื่อเป็นคุณสมบัติในการรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งการดำเนินงานนี้ มีเป้าหมายว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถในแต่ละสาขาวิชานั้นๆ แต่ไม่ได้เรียนจบครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ สามารถเป็นครู และได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ซึ่งที่ผ่านมา ทางคุรุสภาได้ยกเลิกหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต หรือ ป.บัณฑิต ไปแล้ว
ดังนั้นครุสภาได้ไปจัดทำหลักสูตรใหม่ เพื่อให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยสถาบันคุรุพัฒนา ได้จัดทำกรอบแนวคิดและมาตรฐานหลักสูตรอบรมมาตรฐานความรู้วิชาชีพครู จำนวน 7 โมดูล (Module) ดังนี้
1.การเปลี่ยนแปลงบริบทของโลก สังคม และแนวคิดของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
2.จิตวิทยาพัฒนาการ จิตวิทยาการศึกษา และจิตวิทยาให้คำปรึกษาในการวิเคราะห์และพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ
3.เนื้อหาวิชาที่สอน หลักสูตร ศาสตร์การสอน และเทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการเรียนรู้ น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อว่า
4.การวัด ประเมินผลการเรียนรู้ และการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาผู้เรียน
5.การใช้ภาษาไทย ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา
6.การออกแบบและการดำเนินการเกี่ยวกับงานประกันคุณภาพการศึกษา และ
7.จิตวิญญาณความเป็นครู และจรรยาบรรณของวิชาชีพ
โดยสถาบันคุรุพัฒนาได้นำกรอบแนวนี้ ไปเป็นแนวทางในการพัฒนาหลักสูตร ฝึกอบรมที่มีมาตรฐาน มีรูปแบบการเรียนรู้ และการวัดและประเมินผลที่หลากหลาย ทันสมัย และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง โดยมีหลักการ ดังนี้ เป็นหลักสูตรอบรมฐานสมรรถนะ เนื้อหาสาระครอบคลุมมาตรฐานความรู้ตามประกาศคณะกรรมการคุรุสภา เรื่อง รายละเอียดความรู้และประสบการณ์วิชาชีพครู ตามข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 โโยระยะเวลาอบรมแต่ละมาตรฐานความรู้ 7 โมดูล ไม่น้อยกว่า 60 ชั่วโมง รวมแล้ว 420 ชั่วโมง
“หลักสูตรนี้ จะช่วยแก้ไขปัญหาให้กับครูที่ยังไม่ได้รับอนุญาตประกอบวิชาชีพ สามารถเรียนไปด้วยและทำงานไปด้วย ซึ่งทำให้โรงเรียนเอกชน สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสถานศึกษาอื่นๆที่ต้องการผู้สอนที่มีความเชี่ยวชาญ มีทักษะในสาขานั้นๆ สามารถสอนให้ความรู้นักเรียนต่อไปได้” น.ส.ตรีนุช กล่าว
ที่มาข่าว : มติชนออนไลน์