สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม และสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 4 ภายใต้การอำนวยการของนายประทีป จูฑะศร รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 4 ร่วมกับ ตำรวจภูธรจังหวัดมหาสารคาม รวบนายก อบต.หนองม่วง เรียกรับเงินเพื่อแลกกับการต่อสัญญาจ้างลูกจ้าง
วันที่ 10 ตุลาคม 2566 สำนักงาน ป.ป.ช ประจำจังหวัดมหาสารคาม ร่วมกับ สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 4 และตำรวจภูธรจังหวัดมหาสารคาม จับกุมตัวนายก อบต.หนองม่วง อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม พร้อมด้วยของกลางธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท จำนวน 20 ฉบับ เป็นเงิน 20,000 บาท
โดยพฤติการณ์ในการจับกุม คือ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2566 สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม ได้รับแจ้งเบาะแสจากผู้ร้อง ว่า นายก อบต. หนองม่วง มีพฤติการณ์ในการเรียกรับเงินเพื่อเป็นค่าต่อสัญญาจ้างพนักงานจ้างตามภารกิจของ อบต.หนองม่วง ที่หมดสัญญาในวันที่ 30 กันยายน 2566 จำนวนประมาณ 17 ราย โดยเรียกรับเงินค่าต่อสัญญารายละ 17,000 – 25,000 บาท ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและเงินเดือนของแต่ละราย โดยมีผู้เสียหายจำนวนหลายรายที่ประสงค์จะดำเนินคดีกับนายก อบต.หนองม่วง จึงได้มากล่าวหาร้องเรียนต่อสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม จากนั้น สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม จึงได้ประสานไปยังสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 4 เพื่อร่วมดำเนินการในกรณีดังกล่าว
จากนั้น ในวันที่ 9 ตุลาคม 2566 สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม และสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 4 ได้ประสานความร่วมมือในการปฏิบัติราชการกับตำรวจภูธรจังหวัดมหาสารคาม เพื่อร่วมวางแผนการจับกุมดังกล่าว โดยหลังจากสอบปากคำผู้ร้องจำนวนหลายรายแล้ว ปรากฏว่า มีเพียงผู้ร้องที่ 1 ที่มีเงินสดจำนวน เพียงพอที่จะจ่ายให้กับนายก อบต.หนองม่วง ตามที่นายก อบต.หนองม่วง ได้เรียกรับเงินเพื่อเป็นค่าตอบแทนในการต่อสัญญาจ้างไว้ล่วงหน้า
จากนั้นช่วงเช้าวันที่ 10 ตุลาคม 2566 เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 4 ได้นำภาพถ่ายสีธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท จำนวน 20 ฉบับ รวมเป็นเงินจำนวน 20,000 บาท ซึ่งรับมอบจากผู้ร้อง ไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจภูธรเมืองมหาสารคาม หลังจากนั้น ในช่วงสายของวันที่ 10 ตุลาคม 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม สังกัดตำรวจภูธรจังหวัดมหาสารคาม เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 4 ได้ร่วมวางแผนการจับกุม โดยให้ผู้ร้องนำธนบัตรที่ลงบันทึกประจำวันไว้ จำนวน 20,000 บาท นำไปมอบให้กับนายก อบต.หนองม่วง ตามที่ผู้ร้องกับนายก อบต.หนองม่วง ได้ตกลงกันไว้ โดยนัดหมายมอบเงินจำนวนดังกล่าวที่ห้องทำงานของนายก อบต.หนองม่วง ในเวลาก่อนเที่ยง แต่ปรากฏว่า ในเวลาก่อนเที่ยง นายก อบต.หนองม่วง เดินทางไปปฏิบัติภารกิจนอกพื้นที่สำนักงาน อบต.หนองม่วง ผู้ร้องจึงได้รอมอบเงินจำนวนดังกล่าวในช่วงเวลาบ่าย
จากนั้น ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน (วันที่ 10 ตุลาคม 2566) นายก อบต.หนองม่วง ได้เดินทางกลับมาที่สำนักงาน อบต.หนองม่วง และผู้ร้องได้นำเงินของกลางดังกล่าวไปมอบให้กับนายก อบต.หนองม่วง ที่ห้องทำงานของนายก อบต.หนองม่วง แล้วจึงได้แจ้งสัญญาณให้เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมทราบ เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมสังกัดตำรวจภูธรจังหวัดมหาสารคาม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 4 จึงได้เข้าแสดงตัวและขอให้นายก อบต.หนองม่วง แสดงความบริสุทธิ์ใจโดยการเปิดลิ้นชักโต๊ะทำงาน ซึ่งนายก อบต.หนองม่วง ยินยอมเปิดลิ้นชักโต๊ะทำงานด้วยตนเอง ผลการตรวจสอบปรากฏว่า พบของกลาง คือ ธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท จำนวน 20 ฉบับ รวมจำนวน 20,000 บาท อยู่ในลิ้นชักโต๊ะทำงานของนายก อบต.หนองม่วง เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม จึงได้นำมาตรวจสอบกับภาพถ่ายสีธนบัตรที่ได้ลงบันทึกประจำวันไว้ ปรากฏว่า ของกลาง คือ ธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท จำนวน 20 ฉบับ รวมจำนวน 20,000 บาท เป็นธนบัตรที่มีเลขหมายเดียวกันกับที่ได้ลงบันทึกประจำวันไว้ครบถ้วนทั้ง 20 ฉบับ เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม จึงได้แสดงตัวและดำเนินการจับกุม และแจ้งให้นายก อบต.หนองม่วง
ทราบว่า การกระทำดังกล่าว เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 พร้อมกับแจ้งสิทธิของผู้ต้องหา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และนำตัวผู้ต้องหาพร้อมด้วยของกลาง มาดำเนินการจัดทำบันทึกการจับกุม และส่งตัวผู้ต้องหาให้พนักงานสอบสวน ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ เมื่อพนักงานสอบสวนดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานแล้วเสร็จ จะต้องดำเนินการส่งเรื่องให้สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
อนึ่ง ผู้ต้องหาหรือจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด