“ปัจจุบันฐานทางพันธุกรรมของประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพที่ดีมาก เหมือนมีอัญมณีทางพันธุกรรม มีพืชชนิดต่าง ๆ ที่ปู่ย่าตายายสะสมรวบรวมพันธุ์ไว้จนหลายประเทศอิจฉา ถือเป็นรากฐานทางวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม” เป็นคำพูดที่ “ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์” อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุ์พืชเคยกล่าวไว้
แต่วันนี้รัฐบาล คสช.ได้หยิบยกร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช (ฉบับที่…) พ.ศ. …ขึ้นมาปัดฝุ่นพิจารณาใหม่ ทำให้หลายฝ่ายหวั่นเกรงว่าจะทุบหม้อข้าวตนเอง
แม้ นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะแม่งานหลักจะออกมาชี้แจงโดยให้เหตุผลว่า การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ยึดผลประโยชน์ของเกษตรกรเป็นหลัก
แต่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า รายละเอียดที่ระบุบางมาตรากลับเป็นตรงกันข้าม ภาคประชาสังคมจึงลุกขึ้นตั้งคำถามว่า รัฐบาลผลักดัน กฎหมายฉบับนี้เพื่อเกษตรกรหรือเอื้อนายทุนบรรษัทข้ามชาติกันแน่ !
หากย้อนไปดูจุดเริ่มต้นของ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 เกิดขึ้นจากแรงผลักดันของประเทศอุตสาหกรรมที่มีความก้าวหน้าในการปรับปรุงพันธุ์พืช บริษัทเมล็ดพันธุ์และนักปรับปรุงพันธุ์พืชบางกลุ่มในประเทศไทย ที่ต้องการให้มีกฎหมายที่คุ้มครอง “สิทธินักปรับปรุงพันธุ์” ซึ่งเป็นสิทธิผูกขาดในการผลิตและจำหน่ายพันธุ์พืชเป็นระยะเวลายาวนานถึง 10-25 ปี
ปี 2540 เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกได้เรียกร้องให้รัฐบาลยกร่างกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช โดยให้คำนึงถึงหลักการเรื่องสิทธิเกษตรกร สิทธิอธิปไตยของประเทศเหนือทรัพยากรชีวภาพ และการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม แทนที่จะให้สิทธิผูกขาดแก่นักปรับปรุงพันธุ์ โดยใช้กฎหมายสิทธิบัตร หรือกฎหมายของยูปอพ (UPOV) ตามที่บรรษัทข้ามชาติต้องการกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช 2542 ของไทยจึงถูกร่างขึ้นโดยถ่วงดุลระหว่างการให้การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ของนักปรับปรุงพันธุ์และบริษัทเมล็ดพันธุ์ และการเคารพถึงสิทธิและผลประโยชน์ที่เกษตรกรควรได้รับ
ล่าสุด นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ได้ตัดมาตรา 33 ใน พ.ร.บ.ฉบับปี 2542 แล้วแก้ไขนิยามใหม่ ในมาตรา 35 ซ่อนการลดทอนสิทธิเกษตรกรไว้อย่างแยบยล
“เท่ากับกฎหมายให้สิทธิผูกขาดแก่นักปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ภายใต้บริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ และลดทอนสิทธิของเกษตรกร จากที่กฎหมายเดิมให้สิทธิเกษตรกรเก็บพันธุ์ไปปลูกต่อได้ แต่กฎหมายใหม่ตัดประเด็นนี้ออกไป”
ที่ถูกตั้งคำถามคือ การเพิ่มเงื่อนไขว่า “เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์ รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช มีอำนาจออกประกาศกำหนดพันธุ์พืชใหม่ชนิดใดเป็นพันธุ์พืชที่สามารถจำกัดปริมาณการเพาะปลูกหรือการขยายพันธุ์ทั้งหมดหรือบางส่วนของเกษตรกรได้ เท่ากับเปิดทางให้นายทุนหรือเปล่า”
“เพราะนี่คือหัวใจสำคัญของการลดทอนสิทธิเกษตรกร ขณะที่กรมวิชาการเกษตรหยิบยกข้อมูลมาชี้แจงเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น” นายวิฑูรย์กล่าว
แม้ยังไม่มีบทสรุปสุดท้าย แต่หลายฝ่ายข้องใจว่า หากยอมรับร่างกฎหมาย จะเข้าข่าย “ผูกขาด” พันธุ์พืชตามอนุสัญญา UPOV 1991 หรือไม่ ที่สำคัญ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่เอื้อประโยชน์ใครกันแน่ ?
ที่มา:ประชาชาติ