ครม.เคาะช่วยเหลือชดใช้น้ำท่วมครัวเรือนละ 3,000 บาท อุทกภัยภาคอีสานช่วงพายุตาลัสและเซินกา รวมทั้งทกซูรี หย่อมความกดอากาศต่ำ และร่องมรสุม
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลด ครัวเรือนละ 3,000 บาท แบ่งเป็นช่วงภัยพายุตาลัสและเซินกาเสร็จสิ้นวันที่ 30 พ.ย. และช่วงภัยทกซูรี หย่อมความกดอากาศต่ำ และร่องมรสุมเสร็จสิ้น 31 ธ.ค. และโครงการปรับเปลี่ยนระบบผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง รวมถึงชดเชยดอกเบี้ย 3% ต่อปี 6 เดือน สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร กรอบวงเงินรวม 4,715.19 ล้านบาท
นายกอบศักดิ์กล่าวว่า พื้นที่ที่ได้รับผล กระทบจากพายุตาลัสและเซินกา ช่วงวันที่ 5 ก.ค.-15 ส.ค.2560 จำนวน 1,759,038 ครัวเรือน วงเงิน 3,592.66 ล้านบาท สร้างความเสียหายสิ้นเชิงด้านการเกษตร 43 จังหวัด เกษตรกรรวม 435,059 ราย แบ่งเป็นด้านพืช 419,938 ราย พื้นที่ 3.22 ล้านไร่ ด้านประมง 13,501 ราย พื้นที่บ่อปลา 12,431 ไร่ 3,022 ตารางเมตร ด้านปศุสัตว์ 1,620 ไร่ สัตว์ตายและสูญหาย 60,591 ตัว แปลงหญ้า 92 ไร่
นายกอบศักดิ์กล่าวต่อว่าในส่วนครัวเรือนที่ได้รับพายุทกซูรี หย่อมความกดอากาศต่ำ ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศไทย ทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ จนเกิดน้ำไหลหลาก น้ำเอ่อล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขัง ช่วงภัยตั้งแต่วันที่ 16-31 ต.ค.2560 ส่งผลกระทบ ต่อเกษตรกรและภาคการเกษตรเป็นจำนวน 250,000 ครัวเรือน วงเงิน 750 ล้านบาท เกษตรรวม 242,311 ราย แบ่งเป็นด้านพืช 209,428 ราย พื้นที่ 1.79 ล้านไร่ ด้านประมง 11,585 ราย พื้นที่บ่อปลา/กุ้ง 13,075 ไร่ 18,664 ตารางเมตร ด้านปศุสัตว์ 21,298 ราย สัตว์ตายและสูญหาย 827,711 ตัว
ด้าน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะที่สถานการณ์น้ำในภาคอีสานได้ปรับลดการระบายน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เหลือ 20 ล้านลบ.ม.ทำให้ปริมาณน้ำในลำน้ำพองจะลดลงและกลับเข้าสู่ภาวะปกติในเร็วๆ นี้ แต่ที่ยังมีปัญหาระบายน้ำได้ช้าคือลำน้ำชี ช่วงกลาง ผ่านจ.มหาสารคาม และจ.กาฬสินธุ์ เนื่องจากลำน้ำชีที่ผ่านสองจังหวัดมีความคดเคี้ยว มีสะพานทำให้น้ำไหลช้า คาดการณ์หากเร่งระบายที่จังหวัดอุบลราชธานี จะบรรเทาภัยความเดือดร้อนลงได้ภายในสิ้นเดือนพ.ย.นี้ ส่วนจังหวัดยโสธรซึ่งอยู่ท้ายน้ำลำน้ำชีกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ด้านแม่น้ำมูลไม่มีปัญหาหรือผลกระทบอะไร
ที่ จ.ขอนแก่น นายทรงวุฒิ กิจวรวุฒิ ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย สำนักชลประทานที่ 6 เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ จ.ขอนแก่น ได้ประชุมและกำหนดแนวทางการแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วมที่กำลังเกิดขึ้นภายในกลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนกลาง โดยเฉพาะที่ จ.ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด โดยที่ อ.เมืองขอนแก่น ประสบสถานการณ์น้ำท่วมเข้าสู่สัปดาห์ที่ 4 แล้ว
ที่ประชุมมีมติให้เขื่อนอุบลรัตน์ลดปริมาณการระบายน้ำลงจากวันละ 30 ล้าน ลบ.เมตร เป็น 20 ล้าน ลบ.เมตรต่อวัน โดยมีผลในวันเดียวกันนี้ทันที เนื่องจากขณะนี้ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนอุบลรัตน์เหลือเพียงวันละ 4 ล้าน ลบ.เมตร และปัจจุบันปริมาณน้ำในเขื่อนมีปริมาณ 2,785.87 ล้าน ลบ.เมตร หรือร้อยละ 114 ของปริมาณน้ำในเขื่อนอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ง่าย
“การลดปริมาณการระบายน้ำออกจากเขื่อนนั้นจะลดลงแบบขั้นบันได้ โดยจะลดลงวันละ 1,500,000 ต่อวัน โดยจะเริ่มตั้งแต่วันนี้ จนแตะระดับที่ 20 ล้าน ลบ.เมตรต่อวัน ซึ่งก็จะช่วยให้น้ำในแม่น้ำพองมีระดับที่ลดลงและต่ำลง จนทำให้สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่เหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน กลับสู่สภาวะปกติ” นายทรงวุฒิระบุ
นายทรงวุฒิกล่าวต่ออีกว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ อ.เมือง จ.ขอนแก่น โดยเฉพาะในพื้นที่ ต.สำราญ ต.ศิลา อ.เมือง จากการลดการระบายน้ำลงคาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะเข้าสู่ภาวะปกติ อีกทั้งจะช่วยลดความรุนแรง ความไหลเชี่ยวของน้ำชีและสถานการณ์น้ำท่วม ในพื้นที่ จ.มหาสารคาม ด้วย
ข่าวสด ฉบับวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560