ควันหลงจากละครดัง นักท่องเที่ยวแห่ชมรูปปั้นขนาดใหญ่ คล้ายเจ้าแม่นาคีจากละคร นาคี ที่ศาลาแก้วกู่ จ.หนองคาย
จากกระแสละครนาคียังคงอยู่ แต่ยังคงมีการพูดถึงเรื่อยๆมา โดยเฉพาะฉากจบของละครเรื่องนี้ช่วงที่ นางเอกแต้ว เจ้าแม่นาคี มีร่างส่วนบนเป็นมนุษย์ส่วนล่างเป็นพญานาคีนั้น
โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2559 แฟนเพจ Udonthani Update ได้เผยภาพรูปปั้นเจ้าแม่นาคี ซึ่งท่อนบนเป็นสตรี ท่อนล่างเป็นพญานาค พร้อมระบุว่า “รูปปั้นเจ้าแม่นาคี มีอยู่จริง ที่ศาลาแก้วกู่ จังหวัดหนองคาย” โดยศาลาแก้วกู่นี้ มีอีกชื่อหนึ่งว่า วัดแขก เป็นแหล่งท่องเที่ยวของ จ.หนองคาย เป็นสถานที่ตั้งของเทวรูปต่าง ๆ ตามตำนานความเชื่อ!!
ปรากฏว่าที่ศาลาแก้วกู่ บ้านสามัคคี ต.หาดคำ อ.เมืองหนองคาย ซึ่งเป็นลานพุทธมามกะสถาน แหล่งรวมศิลปะปูนปั้นขนาดใหญ่หลากหลายแบบที่ยึดเค้าโครงจากความเชื่อตามศาสนาพุทธ พราหมณ์ และฮินดู เมื่อเข้าไปช่วงกลางของศาลาแก้วกู่ จะพบปูนปั้นรูปหนึ่งมีลักษณะคล้ายเจ้าแม่นาคี คือ ส่วนบนเป็นมนุษย์ ส่วนล่างทอดยาวเป็นพญานาคี มีบริวารคอยดูแลปกป้องอยู่ตามร่าง รูปปั้นนี้มีขนาดความยาวประมาณ 24 เมตร นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวชมศาลาแก้วกู่ต่างตื่นเต้นและเชื่อว่านี่คือเจ้าแม่นาคีตามละครจริง ๆ
ทั้งนี้เทวาลัยบูรณะเสร็จเมื่อปี 2546 ใต้ฐานรูปปั้นนี้มีการสลักไว้เป็นเรื่องราวว่า “เทวลัยปางนี้คือพระเจ้าย่าทวดแอไค่ (พระอุมาหรือพระสันติ) เป็นพระบรมราชินีของนาคพิภพ ตามวรรณคดีของอีสานกล่าวว่า ตอนพระนางแอไค่กับขุนเทืองได้ลักลอบสมสู่กันที่อุทยานสวนดอกไม้ จากนั้นพระนางแอไค่ได้นำขุนเทืองออกจากอุทยานสวนดอกไม้ไปยังพิภพนาค ตามกฎมณเฑียรบาลของนาคพิภพแล้วมนุษย์กับนาคจะอยู่ร่วมกันไม่ได้ ดังนั้นพระนางแอไค่จึงนำเอาขุนเทืองไปซ่อนในปรางปราสาทเขาพระสุเมรุอันเป็นที่ตั้งของสวรรค์ดาวดึงส์พิภพ พระนางแอไค่ได้พะเน้าพะนอสมสู่กับขุนเทืองนาน 7 ปี 7 เดือน 7 วัน จนทำให้พระนางแอไค่ลืมเหตุแห่งกาลของตน (กาลสงกรานต์) ดังนั้นดินฟ้าอากาศเกิดแห้งแล้งจึงทำให้เกิดความเดือดร้อนไปทั่วทั้งสามโลก จากนั้นพระนางแอไค่จึงได้สำนึกตนรู้ว่าพระนางทำผิดกฎมณเฑียรบาลของสามโลก พระนางแอไค่ได้บอกความจริงต่อขุนเทืองแล้ว พระนางแอไค่จึงลงมาเล่นน้ำและยังได้สั่งขุนเทืองไว้ว่าอย่าได้เปิดหน้าต่างหรือเปิดประตูดูตอนพระนางแอไค่เล่นน้ำ พอสั่งแล้วพระนางแอไค่พร้อมบริวารก็ได้แห่ไปเล่นน้ำ ปฐพีเบื้องล่างดังตุ้ม ๆ สะเทือนทั่วแดน ขุนเทืองได้ยินเสียงแตกต่างเลยเปิดประตูหน้าต่างมองดูจึงรู้ว่าพระนางแอไค่เมียตนเป็นนาค ตามวรรณคดีของภาคอีสานมาจนทุกวันนี้”
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Udonthani Update, Waraporn Pupe, Instagram actart_gen เรื่องเล่าเช้านี้