แผ่นดินอีสานกลาง ประกอบด้วยจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด เป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนานและมีเสน่ห์ด้านการท่องเที่ยวอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งหากใครได้เดินทางไปเยือนสักครั้ง จะรู้สึกประทับใจ และอยากไปกลับเยือนอีกหลายต่อหลายครั้งแน่นอน สำหรับปลายปีนี้หากเพื่อนๆ กำลังวางแผนไปไหว้พระทำบุญขอพรรับปีใหม่ หรือเดินทางไปพักผ่อนให้กับชีวิต สนุก! ท่องเที่ยว ขอแนะนำ สถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งทำบุญศักดิ์สิทธิ์ ที่ว่ากันว่าไปแล้วจะอิ่มบุญอิ่มใจราวกับได้ขึ้นสวรรค์ก็ไม่ปาน
1.พระมหาธาตุแก่นนคร หรือ พระธาตุเก้าชั้น แห่งวัดหนองแวง อ. เมือง จ.ขอนแก่น สร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี และ มหามังคลานุสรณ์ 200 ปี เมืองขอนแก่น พระมหาธาตุแก่นนครเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กก่ออิฐ ถือปูน ฐานสี่เหลี่ยมเรือนยอดทรงเจดีย์จำลองแบบจากพระธาตุขามแก่น มีพระจุลธาตุ 4 องค์ ตั้งอยู่ 4 มุมและมีกำแพงแก้วพญานาค 7 เศียรล้อมรอบ
ภายในรวบรวมพระธรรมคัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนา แต่ละชั้นโดดเด่นด้วยลวดลายของบานประตู และหน้าต่างแกะสลัก บอกเล่าเรื่องราวเป็นภาพชาดก ภาพพุทธประวัติ ภาพแกะสลักรูปพรหมสิบหกชั้น สำหรับผู้ที่มีพลังกายและจิตใจมุ่งมั่นก้าวเดินไปให้ถึงในส่วนชั้นบนสุดของพระธาตุซึ่งเป็นสถานที่สำคัญบรรจุพระบรมสารีริกธาตุกลางบุษบก อานิสงส์ที่ได้รับสักการบูชาพระธาตุเก้าชั้น เปรียงดังบูชาองค์พระพุทธเจ้าบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ชีวิตมีความเจริญก้าวหน้ารุ่งเรืองอีกทั้งยังสามารถชมทัศนียภาพของเมืองขอนแก่นได้รอบทั้ง 4 ทิศมีหมู่บ้านล้อมรอบสามด้าน และมีบึงแก่นนครอยู่ทางทิศตะวันออกของวัด ความสวยงามของพระมหาธาตุแก่นนครยังคงอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน
2.พระธาตุขามแก่น วัดเจติยภูมิ อ.น้ำพอง จ. ขอนแก่น ปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์คู่แผ่นดินอีสานอีกแห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “เมืองขอนแก่น”ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ อานิสงส์ที่จะได้รับ “เรื่องร้ายกลายเป็นดีดุจดังแก่นขามตายแล้วฟื้น รักยั่งยืน โรคภัยไม่มี หลีกลี้ห่างหาย” ภายในเจดีย์ นอกจากบรรจุ “พระอังคารของพระพุทธเจ้า”แล้ว ยังได้บรรจุ “คัมภีร์นวโลกุตตรธรรม” และคาถาสรรเสริญพระพุทธเจ้าที่เรียกว่า “บวรหคุณ” ไว้อีกด้วย
พระธาตุขามแก่น มีประวัติความเป็นมาเรื่องเล่าสืบขานกันมาช้านาน หลังจากพระยาหลังเขียว ได้ตกลงเห็นดีในการก่อสร้างพระธาตุครอบต้นมะขาม บรรจุพระอังคารของพระพุทธเจ้าไว้พร้อมด้วยเงินทอง แก้วแหวนแสนสารพัดนึก โดยทำเป็นพระพุทธรูปแทนพระองค์ เข้าบรรจุไว้ในพระธาตุนี้ เมื่อการก่อสร้างเสร็จ พระยาหลังเขียวก็จัดการสร้างบ้านสร้างเมืองขึ้น บริเวณใกล้ๆกับพระธาตุนั้น มีกำแพงทั้ง 4 ทิศ ส่วนพระอรหันต์ทั้ง 9 องค์ ก็จัดการสร้างวัดวาอารามขึ้น คือ วิหารและพัทธสีมา เคียงคู่กับพระธาตุ เหตุการณ์เป็นดังนี้ จึงปรากฎนาม ” พระธาตุขามแก่น” และเมื่อกาลเวลาล่วงเลยมา พระอรหันต์ทั้ง 9 องค์ ได้ดับขันธ์ปรินิพพานในสถานที่นี้ทุกองค์ สรีระธาตุของท่านทั้ง 9 ก็ได้บรรจุไว้ในพระธาตุองค์เล็ก ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระธาตุองค์ใหญ่
3.พระธาตุนาดูน พุทธมณฑลอีสาน อ.นาดูน จ.มหาสารคาม จำลองแบบจากสถูปสำริดที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ฐานประยุกต์แบบศิลปทวาราวดี ฐานรากและโครงสร้างทั่วไปเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ทั้งหมด ผนังภายนอกพระธาตุส่วนใหญ่ทำด้วยหิน บางแห่งฉาบปูนเรียบสีขาว มีลวดลายบัว เสาบัวต่าง ๆ พร้อมจำลองแบบ พระเครื่องพิมพ์ต่าง ๆ ที่ขุดพบมาประดิษฐานพระธาตุ และมีมารแบกปั้นเป็นแบบนูนสูงประดับที่ฐาน บริเวณโดยรอบร่มรื่นด้วยพรรณไม้สวนสมุนไพร สวนรุกขเวช พิพิธภัณฑ์นครจำปาศรี เป็นสถานที่จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาและพัฒนาการของเมืองโบราณนครจำปาศรี ชมความสวยงามของ พิพิธภัณฑ์เรือนอีสาน จำลองบ้านผู้ไทย บ้านประมง บ้านเครื่องมือดักสัตว์ บ้านผ้าทอ และพิพิธภัณฑ์ทางศาสนา วัฒนธรรม ซึ่งตกแต่งให้เป็นสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา
4. พระธาตุยาคู อ.กมลาไสย จ. กาฬสินธุ์ บูชาพระธาตุโบราณที่ชาวบ้านเชื่อกันว่า เป็นพระธาตุที่บรรจุอัฐิของพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่ชาวเมืองเคารพนับถือ จึงเรียกกันว่า ” พระธาตุยาคู ” เป็นหนึ่งในโบราณสถานเจดีย์ขนาดใหญ่ที่สุดที่มีการขุดค้นพบหลักฐานต่างๆมากมายในเขตเมืองฟ้าแดดสงยาง มีหลักฐานว่าแต่ละส่วนของพระธาตุยาคู สร้างขึ้นใน 3 สมัย ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมก่อด้วยอิฐ โดยส่วนฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อ มีบันไดทางขึ้น 4 ทิศ สร้างในสมัยทวารวดี ถัดขึ้นมาเป็นส่วนฐานทรงแปดเหลี่ยม สร้างในสมัยอยุธยา ซึ่งสร้างซ้อนทับบนฐานเดิม
ส่วนองค์ระฆังและส่วนยอดสร้างต่อเติมในสมัยรัตนโกสินทร์ รอบ ๆ องค์พระธาตุพบใบเสมาแกะสลักภาพนูนต่ำเรื่องพุทธประวัติ เนื่องด้วยเป็นสถานที่แห่งเดียวในเมืองฟ้าแดดสงยางที่ไม่ถูกทำลายโดยเมืองเชียงโสม ซึ่งเป็นฝ่ายชนะสงคราม จึงนับเป็นโบราณสถานที่ยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเมืองฟ้าแดดสงยางเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2479 ทุกๆ ปีในเดือนพฤษภาคม ชาวบ้านจะจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ เพื่อเป็นการขอฝนและนำความร่มเย็นมาสู่หมู่บ้าน
5.พระมหาเจดีย์ชัยมงคล วัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วรารามตำบลผาน้ำย้อย อำเภอหนองพอก จ. ร้อยเอ็ด นมัสการพระมหำเจดีย์ชัยมงคล ขนาดสูงและกว้างอย่างละ 101 เมตร ศิลปะแบบประยุกต์ วิจิตรสวยงามด้วยงานพุทธศิลป์ ใช้งบประมาณในการสร้างกว่า 3,000 ล้าน บาท ภายในองค์พระมหาเจดีย์ชัยมงคล แต่ละชั้นมีความตั้งใจตกแต่งให้เหมือนอยู่บนวิมานแดนสวรรค์ ชั้น1 เป็นห้องโถงกว้างใหญ่ ผนังจารึกนามทานาธิบดีต่างๆ ใช้สำหรับทำพิธีทางศาสนา บำเพ็ญบุญ ประกอบด้วยรูปหล่อพระเทพวิสุทธิมงคล (หลวงปู่ศรี มหาวีโร) ชั้น 2 เป็นห้องโถงสถานที่จัดการประชุม ผนังติดตั้งรูปพระพุทธประวัติ ลวดลายไทย
ส่วนชั้น 3 เป็นพระอุโบสถที่ประดิษฐานรูปเหมือนสลักหินทรายของพระคณาจารย์ ปราชญ์อีสานในอดีต และหุ่นรูปเหมือนพระสุปฏิปันโนในจำนวน 101 องค์ ชั้น4 จัดเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงวัดวาอาราม สถานปฏิบัติสมถะวิปัสสนา กรรมฐานที่หลวงปู่ศรี เคยบำเพ็ญธรรมมา และมีระเบียงให้เดินชมวิวทิวทัศน์บริเวณโดยรอบองค์เจดีย์ เคียงข้างทัศนียภาพเทือกเขาเป็นฉากหลังอันสวยงาม ชั้น5 เป็นพิพิธภัณฑสถานซึ่งจัดแสดงจัดแสดงประวัติ พร้อมเก็บรวบรวมอัฏฐะบริขารของ พระเทพวิสุทธิมงคล (หลวงปู่ศรี มหาวีโร) ก้าวเดินขึ้นไปผ่านบันไดเวียน 119 ขั้น มาถึงชั้น 6 มีลักษณะห้องโถงรูประฆัง 8 เหลี่ยมเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และอัฏฐิธาตุพระอรหันต์องค์ต่างๆ
ขอขอบคุณ: การท่องเที่ยวแห่งประเทศ (ททท.) สำนักงานขอนแก่น และ ททท.ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน)