วันนี้ (23 มกราคม 2561) เวลา 10.00 น. ณ แปลงปลูกอ้อย อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทนงศักดิ์ มูลตรี หัวหน้าโครงการวิจัย รถตัดอ้อยลำต้นแบบ รุ่น TRF 3500 พร้อมด้วยบุคลากร นิสิตคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมต้อนรับ นายกิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย ผู้ทรงคุณวุฒิจาก สกว. ตลอดจนผู้บริหารโรงงานน้ำตาลวังขนาย นายกสมาคมชาวไร่อ้อย จังหวัดมหาสารคาม และบริษัทคูโบต้า สาขามหาสารคาม ในการตรวจเยี่ยมทดสอบความก้าวหน้าโครงการวิจัยรถตัดอ้อยลำ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทนงศักดิ์ มูลตรี เปิดเผยว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ให้ทุนนักวิจัยและพัฒนารถตัดอ้อยลำ เพื่อลดค่าใช้จ่ายของเกษตรกรในการตัดพันธ์อ้อย ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่ใช้ในการตัดพันธุ์ การวิจัยและการพัฒนารถตัดอ้อยลำ ทางผู้ทรงคุณวุฒิได้ให้คำแนะนำการเพิ่มประสิทธิภาพของรถตัดอ้อยลำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีการปรับปรุงระบบตัดลำต้นอ้อยให้มีขนาดที่กว้างขึ้น เพื่อตัดอ้อยที่มีขนาดร่องอ้อยที่กว้างขึ้น ระบบลำเลียง เพิ่มตัวลำเลียงอ้อยเพื่อให้อ้อยลำเลียงได้สะดวกและรวดเร็ว ระบบตัดยอดอ้อยเพิ่มตัวกันใบมีดเพื่อป้องกันใบอ้อยเข้าไปติดใบมีดตัดยอดอ้อย ระบบขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนของรถตัดลำ ในการเพิ่มกำลังในการตัดอ้อยได้มากขึ้น
การเพิ่มประสิทธิภาพรถตัดอ้อยลำ มุ่งเน้นความเหมาะสมกับเกษตรกรที่ปลูกอ้อย และประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานตัดอ้อยพันธุ์ และการเผาอ้อยของเกษตรกร การออกแบบและสร้างรถตัดอ้อยลำ โดยระบบทำงานประกอบด้วยระบบตัดโคนอ้อย ระบบตัดยอดอ้อย ระบบลำเลียงอ้อย และกระบะบรรทุกอ้อย ระบบส่วนใหญ่เป็นระบบไฮดรอลิกส์ เพื่อสะดวกรวดเร็วในการใช้งาน และประสิทธิภาพการตัดอ้อยพันธุ์ได้ 60 ตัน/วัน ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในการตัดอ้อยพันธุ์ได้ 60 คนต่อวัน (โดยให้ 1 คนตัดได้ 1 ตันต่อวัน) เทียบเท่าคนตัด ลดค่าแรงจ้างตัดจัดอ้อยพันธุ์ได้ 3,000 บาท/ไร่ (ผลผลิตอ้อยอยู่ที่20 ตัน ค่าตัดอ้อยพันธุ์อยู่ที่ตันล่ะ 150 บาท) ทำงานตลอดฤดูเก็บเกี่ยว 150 วัน หรือ 9,000 ตัน/ฤดูกาล สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายตลอดฤดู 1,350,000 บาท/ฤดู การเพิ่มประสิทธิภาพรถตัดอ้อยลำ เป็นเทคโนโลยีการตัดอ้อยสด ไม่ก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม เริ่มต้นด้วยการตัดยอดอ้อย สางใบ ตัดลำต้น และวางเป็นกองเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเก็บการเคลื่อนย้าย
โดยผลของการทดสอบประสิทธิภาพของรถตัดอ้อยลำในภาคสนาม พบว่ารถตัดอ้อยลำมีประสิทธิภาพในการตัดอ้อยที่ 0.35 ไร่ต่อชั่วโมง หรือ 74.80 ตันต่อวัน อัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ 18.68 ลิตรต่อชั่วโมง ที่ความเร็วในการตัดอ้อย 0.50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ผลได้ทางเศรษฐกิจและสังคม สามารถเก็บเกี่ยวอ้อยที่ 0.35 ไร่ต่อชั่วโมง หรือ 74.80 ตันต่อวัน อัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ 18.68 ลิตรต่อชั่วโมง ที่ความเร็วในการตัดอ้อย 0.50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ค่าใช้จ่ายในการตัดอ้อยที่ 90 บาทต่อตัน (เปรียบเทียบกับคนตัดอ้อย 1 คนตัดได้ 1 ตันต่อวันค่าใช้จ่ายในการตัดอ้อยที่ 300 บาทต่อตันต่อคน) ถ้าใช้คนตัดอยู่ที่ 22,440 บาทต่อวัน เมื่อใช้รถตัดอ้อยลำต้นแบบ รุ่น TRF 3500 อยู่ที่ 6,732 บาทต่อวัน ลดต้นทุนการตัดอ้อยได้ 15,708 บาทต่อวัน ทำงานตลอดฤดูเก็บเกี่ยว 90 วันประหยัดค่าใช้จ่ายตลอดฤดู 1,413,720 บาทต่อฤดู ลดแรงงานที่ใช้ในการตัดอ้อย 6,732 คนต่อฤดู
ทั้งนี้ คณะผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จะได้ลงพื้นที่ติดตามผลงาน รถตัดอ้อยลำ ในครั้งต่อไปในพื้นที่อื่นๆ
ภาพ/ข่าว : บุณฑริกา ภูผาหลวง
ที่มา : คณะเทคโนโลยี