“ภาคอีสาน” ในภาพจำของนักท่องเที่ยวต่างชาติหรือแม้แต่คนไทยอาจเป็นพื้นที่ลำดับท้าย ๆ ที่นึกถึง หรือวางแผนออกเดินทาง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่ายังไม่มีเที่ยวบินตรงจากต่างประเทศ แหล่งท่องเที่ยวยังไม่ถูกพัฒนาให้โดดเด่น และการเดินทางระหว่างแหล่งท่องเที่ยวยังใช้เวลาค่อนข้างนาน
รุกเจรจาแอร์ไลน์เปิดไฟลต์บิน
“ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บอกว่า ได้เริ่มเจรจากับสายการบินหลาย ๆ สายให้เปิดเส้นทางบินใหม่จากต่างประเทศตรงเข้าสู่เมืองรอง 55 จังหวัดของไทยที่รัฐบาลประกาศออกมาแล้ว รวมถึงการเปิดเส้นทางบินตรงจากต่างประเทศเข้าสู่เมืองหลักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ซึ่งยังไม่มีเที่ยวบินประจำจากต่างประเทศเลย
หากมีสายการบินใดสนใจ ททท.พร้อมจะช่วยประสานกับกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เพื่อให้พิจารณาสิทธิประโยชน์พิเศษให้ เช่น ลดค่าธรรมเนียมในการลงจอด เป็นต้น
สำหรับสายการบินที่ ททท.เจรจาไปแล้ว คือ “กลุ่มเวียตเจ็ท” ซึ่งได้ขอให้พิจารณาเปิดเส้นทางโฮจิมินห์-ขอนแก่น เพื่อรุกตลาดต่างประเทศให้บินตรงเข้ามาในภาคอีสาน เพราะขอนแก่นมีศักยภาพและเป็นจุดเชื่อมที่สามารถช่วยส่งต่อนักท่องเที่ยวไปยังจังหวัดใกล้เคียงที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ท่องเที่ยว เพราะการเดินทางเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวค่อนข้างลำบาก เช่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และร้อยเอ็ด ที่ ททท.พยายามส่งเสริมให้เกิดการเดินทางภายในคลัสเตอร์เดียวกัน
มุ่งขาย 2 ประเทศ 1 จุดหมาย
“ยุทธศักดิ์” ระบุว่า ที่ผ่านมาประเทศสมาชิกอาเซียนต่างพยายามส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวแบบ 2 ประเทศ 1 จุดหมาย (Two Countries One Destination) เพื่อสร้างความน่าสนใจในการขายแพ็กเกจ
โดยมองว่าการเปิดเส้นทางบินตรงจากประเทศในกลุ่มอาเซียนเข้าสู่อีสานจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนกระแสการเดินทางไปในเส้นทางเชื่อมโยงโดยเครื่องบินไปยังประเทศเพื่อนบ้านผ่านตะเข็บชายแดนได้อย่างสะดวก
สอดรับกับ “อัศวิน ยังกีรติวร” ซีอีโอสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ที่มองว่า อุดรธานีและอุบลราชธานีเป็น 2 จังหวัดในภาคอีสานที่เริ่มมีความต้องการเที่ยวจากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ยังไม่ถึงขั้นสามารถเติมที่นั่งบนเครื่องบินได้เต็ม หรือสร้างอัตราการบรรทุกผู้โดยสารที่ดีได้ หากอยากให้การท่องเที่ยวในภาคอีสานคึกคัก บริษัทนำเที่ยวต้องเข้ามาช่วยสายการบินทำการตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติร่วมกันในระดับสูงพอสมควร
ททท.อีสานโหมบูมจังหวัดหลัก
“สมชาย ชมภูน้อย” ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ททท. เล่าว่า สถานการณ์ตลาดท่องเที่ยวและเดินทางไปภาคอีสานในภาพรวมถือว่าดีขึ้น เพราะปัจจุบันมีสายการบินให้บริการเที่ยวบินไปภาคอีสานครบทั้ง 9 สนามบินแล้ว แม้แต่สนามบินนครราชสีมาซึ่งอยู่ไม่ห่างจากกรุงเทพฯ มากนัก
นอกจากนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-โคราช ซึ่งเป็นโครงการสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ “นครราชสีมา” ขึ้นแท่นเป็น “เมืองท่องเที่ยวหลัก” มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติไปเยือนเกิน 5 ล้านคนต่อปีได้
ส่วน “ขอนแก่น” ททท.วางเป้าหมายขยายฐานนักท่องเที่ยวให้เพิ่มเป็น 5.5 ล้านคน ขึ้นแท่นเป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก โดยอาศัยปัจจัยเรื่องจำนวนเที่ยวบินของสายการบินราคาประหยัด รวมถึงหลาย ๆ จุดเด่นของขอนแก่นที่เป็นทั้งเมืองท่องเที่ยว เมืองจัดประชุมสัมมนา เมืองการศึกษา และเมืองสุขภาพกับความงาม
ขณะที่ “อุดรธานี” เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีศักยภาพในการเป็นเมืองหลักในอนาคต มีนักท่องเที่ยวจากฝั่ง สปป.ลาวนิยมเดินทางมาพักผ่อน มีร้านค้าร้านอาหารนานาชาติรองรับ และยังเป็นจังหวัดที่มีเขยเป็นชาวต่างชาติจำนวนมาก ขณะเดียวกันคนอุดรฯ เดินทางไปทำงานต่างประเทศก็ส่งเงินกลับมาบ้านเกิด จึงถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการจับจ่ายในพื้นที่
เช่นเดียวกับ “หนองคาย” ที่เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพด้านท่องเที่ยวเช่นกัน ในอนาคตมีโอกาสรองรับนักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งเดินทางเชื่อมต่อด้วยรถไฟความเร็วสูงจากจีนเชื่อม สปป.ลาว และไทย โดยคาดว่าหลังจากเปิดให้บริการในปี 2563 นักท่องเที่ยวจีนจะไหลลงมาทะลุหนองคายแน่นอน
อีกเมืองที่ไม่อยากให้มองข้ามคือ “นครพนม” ที่มีความโดดเด่นด้วยแหล่งท่องเที่ยวเชิงศาสนาและวัฒนธรรม เช่น พระธาตุพนม และพระธาตุประจำวันเกิดอีก 8 แห่ง รวมถึงวิวทิวทัศน์สวยงามริมฝั่งแม่น้ำโขง
สำหรับแนวทางการทำตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยว่า ได้ศึกษาและเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นการนำร่องแล้ว เช่น สายการบินในประเทศจีน ทำเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลต์) เข้า 3 จังหวัดในภาคอีสาน ได้แก่ ขอนแก่น อุดรธานี และอุบลราชธานี เพราะมีสนามบินนานาชาติรองรับ
โดย ททท.ได้วางเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง สปป.ลาว และกัมพูชา ด้วยการเดินทางผ่านด่านถาวรที่มีอยู่ทุกจังหวัดของภาคอีสานที่ติดเขตแดนทั้ง 2 ประเทศ และคาดว่าปีนี้จะเห็นชาร์เตอร์ไฟลต์จากจีนนำร่องมาลงภาคอีสานได้ ซึ่งจะช่วยยกระดับการใช้จ่ายในภาคอีสานให้สูงขึ้น
ชูจุดขาย “บูทีค สไตล์”
ทั้งนี้ ททท.ตั้งใจขายอีสานให้เป็น “บูทีค สไตล์” ที่เน้นสร้างเสน่ห์ ไม่จำเป็นต้องมีโรงแรมและจำนวนห้องพักมากเหมือนเมืองท่องเที่ยวใหญ่ ๆ แต่ต้องมีสไตล์เฉพาะตัว และสามารถท่องเที่ยวได้ทั้ง 3 ฤดู ด้วยการชูแหล่งท่องเที่ยวโดดเด่นในแต่ละฤดู โดยในวันที่ 1-4 มีนาคมนี้ ททท.เตรียมจัดคาราวานเที่ยวอีสาน ซึ่งมีผู้เข้าร่วม 2,000 คน จำนวนรถบัส 50 คัน กระจายไปท่องเที่ยวในเส้นทางเมืองรองและแหล่งท่องเที่ยวอันซีน รวม 7 เส้นทาง โดยมุ่งเจาะกลุ่มเจเนอเรชั่น Y ที่ต้องการค้นหาสิ่งแปลกใหม่
โดยทำแคมเปญผ่านโครงการ #Check in Isan วันธรรมดาน่าเที่ยว พร้อมจูงใจด้วยกิจกรรม “หางตั๋วให้โชค” นำตั๋วรถไฟ เครื่องบิน และรถทัวร์ที่เดินทางเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หย่อนลงตู้บริการน้องสุขใจ 39 จุด ลุ้นรับรางวัลรวมมูลค่ากว่า 3 แสนบาท โดยจะเริ่มจับรางวัลครั้งแรกในวันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้
ทั้งนี้ ททท.วางเป้าหมายปี 2561 มีนักท่องเที่ยวคนไทยมาเที่ยวอีสาน จำนวน 36 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 8.2 หมื่นล้านบาท เติบโต 10% ทั้งเชิงจำนวนคนและรายได้ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ข่าวจาก: ประชาชาติ