นายยุทธนา หยิมการุณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะกรรมการโรงงานยาสูบ เปิดเผยว่า ในปี 2561 โรงงานยาสูบจะไม่มีปัญหาขาดสภาพคล่อง เพราะมีการกันเงินค่าใช้จ่ายไว้หมดแล้ว แต่ปี 2562 ทางผู้อำนวยการโรงงานยาสูบอาจจะกลัวว่าจะมีปัญหาสภาพคล่อง เพราะส่วนแบ่งการตลาดลดลงและกำไรของบุหรี่ต่อซองเหลือน้อยมาก แต่ยืนยันว่าเรื่องเงินจ่ายเงินเดือนพนักงานยังมีเพียงพอไม่มีปัญหา
ทั้งนี้ เดิมโรงงานยาสูบประเมินผลการดำเนินงานปี 2561 จะขาดทุน 1,500 ล้านบาท ทำให้ส่งรายได้ให้กับกระทรวงการคลังไม่ได้ แต่สถานการณ์การตลาดทำให้ยอดขายดีขึ้น และยาเส้นที่ทดลองทำตลาดก็ได้รับการตอบรับดี ซึ่งน่าจะทำให้ผลการดำเนินงานของโรงงานยาสูบปี 2561 ไม่ขาดทุน แต่จะมีกำไรแต่ไม่มากเหมือนปี 2560 ที่ที่มีกำไรถึง 9,000 ล้านบาท
นายยุทธนา กล่าวว่า ปี 2560 โรงงานยาสูบส่งรายได้ให้กระทรวงการคลัง 7,000-8,000 ล้านบาท สำหรับปี 2561 คาดว่าโรงงานยาสูบจะมีกำไรบ้างเล็กน้อย ทางกระทรวงการคลังขอให้นำเงินส่วนนี้ส่งรายเข้าคลังจำนวน 500 ล้านบาท ซึ่งโรงงานยาสูบกำลังพิจารณาว่าจะนำส่งหรือไม่ เพราะต้องการเก็บไว้เป็นสภาพคล่องสำหรับการใช้จ่ายมากกว่า
สำหรับเรื่องเงินลงทุนของโรงงานยาสูบไม่น่าจะมีปัญหา เพราะได้มีการกันเงินลงทุนปี 2561 และ ปี 2562 ไว้หมดแล้ว แต่ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบอาจจะกังวลบุหรี่มีกำไรน้อยลงมาก ทำให้ปี 2562 มีปัญหาสภาพคล่องจึงมีการเตรียมการไว้ล่วงหน้า
นายยุทธนา กล่าวว่า ส่วนแบ่งการตลาดบุหรี่ของโรงงานยาสูบจะเหลืออยู่ที่ประมาณ 60% จากเดิม 80% ทำให้ยังมีกำไรอยู่บ้างแต่กำไรลดลง จากซองหนึ่งกำไรละ 8 บาท ตอนนี้เหลือไม่ถึงซองละ 1 บาท ซึ่งก็ต้องถือว่ามีกำไรอยู่บ้างจนไม่น่าจะทำให้โรงงานยาสูบขาดสภาพคล่อง เพราะตอนนี้ก็มีการปรับกลยุทธ์เพิ่มส่วนแบ่งการตลาดให้ต่อเนื่อง
น.ส.ดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ เปิดเผยว่า โรงงานยาสูบได้เปิดโครงการเกษียณอายุงานก่อนกำหนด หรือเออร์ลี่รีไทร์ ตั้งเป้าหมายรับคนเข้าโครงการ 500 คน คาดว่าจะใช้เงินไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท โดยกลุ่มเป้าหมายจะเป็นคนที่ไม่สะดวกจะย้ายถิ่นฐานไปทำงานที่โรงงานยาสูบแห่งใหม่ ที่อุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา กับผู้สูงอายุที่สุขภาพไม่ดี มีหนังสือรับรองจากโรงพยาบาล จะได้รับการพิจารณาก่อน
ทั้งนี้ ในส่วนภาพรวมพนักงานมีจำนวนกว่า 2,800 คน ในจำนวนนี้มีพนักงานส่วนกลาง ที่สำนักงานให้สำนักงาน ฝ่ายวิจัย พัฒนาองค์กร ฝ่านไอที ที่ยังคงปฎิบัติงานที่สำนักงานใหญ่ที่คลองเตยได้ต่อไปอีกราว 1,000 คน ที่เหลืออีกราว 1,800 คน ต้องย้ายไปทำงานที่โรงงานแห่งใหม่ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เบื้องต้นจากการสำรวจความต้องการของพนักงานทั้งหมด พบว่ามีคนสนใจจะเข้าโครงการเออร์ลี่รีไทร์ ประมาณ 500 คน
“การเปิดเออร์ลี่รีไทร์ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการลดต้นทุนในระยะยาว แม้ในตอนนี้จะต้องเสียเงินไม่น้อยกว่า 500-600 ล้านบาท แต่ระยะยาวอีก 3-5 ปีข้างหน้าสามารถ ลดค่าใช้จ่ายเรื่องพนักงานไปได้ไม่น้อยกว่า 1,200 ล้านบาท”น.ส.ดาวน้อยกล่าว