6 เดือนยอดขายร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ทะลุ 1.9 หมื่นล้านบาท ‘ของกิน-ของใช้’ สุดฮิต “พาณิชย์”มั่นใจยอดพุ่งต่อเนื่อง เตรียมจัดโปรโมชันคืนกำไร พร้องเร่งส่งรถโมบายเข้าไปเสริมจุดโหว่ จัดอบรมดัน 4 หมื่นร้านค้า เป็นโชห่วยไฮบริด
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีการสรุปยอดการซื้อขายสินค้าผ่านร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ 6 เดือน ตั้งแต่เริ่มเปิดตัวโครงการเดือนต.ค.2560-27 มี.ค.2561 มีมูลค่าการซื้อขายรวม 19,000 ล้านบาท และมีจำนวนรายการสินค้าที่ซื้อขายกว่า 69 ล้านรายการ
สำหรับสินค้าที่ขายดีที่สุด ได้แก่ ข้าวสาร น้ำมันพืช ไข่ไก่ น้ำปลา เครื่องปรุงรส และของใช้ส่วนบุคคล
“มั่นใจว่ายอดการซื้อขายน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะกำลังจะหารือกับผู้ผลิตให้จัดทำโปรโมชันนำสินค้าขายดีมาลดราคา เพื่อคืนกำไรให้กับประชาชน รวมถึงการนำสินค้าชุมชนเข้าไปจำหน่ายในร้านค้า เพื่อเพิ่มทางเลือกในการซื้อให้กับประชาชน”
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า กระทรวงฯจะเร่งให้มีการเปิดร้านเพิ่มขึ้น และใช้รถธงฟ้าเคลื่อนที่เข้าไปเสริมก่อนในช่วงที่ยังมีร้านไม่เพียงพอ เพื่อแก้ปัญหาการกระจุกตัวของการใช้จ่ายผ่านร้านค้าธงฟ้าประชารัฐในบางอำเภอหลังจากได้มีการลงไปสำรวจแล้วพบว่า บางพื้นที่มีจำนวนร้านไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบางพื้นที่มีร้านใหญ่มาก ทำให้ดึงลูกค้าจากร้านอื่นในละแวกเดียวกัน
“เชื่อว่า หลังจากผลักดันให้มีจำนวนร้านค้าธงฟ้าประชารัฐครบ 4 หมื่นร้าน ซึ่งคาดว่าน่าจะภายในเดือนเม.ย.นี้ จะทำให้ปัญหากระจุกตัวหรือร้านค้าไม่เพียงพอหมดไป”
นายวิชัย โภชนกิจ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ภายในวันที่ 25 เม.ย.2561 การติดตั้งเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (อีดีซี) ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ที่รับผิดชอบเพิ่มเติมอีก 10,000 แห่ง น่าจะติดได้ครบทั้งหมด ส่วนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกองทุนหมู่บ้านอีก 1 หมื่นแห่งทราบว่ามีความคืบหน้าไปมาก หากติดตั้งได้ครบทั้ง 40,000 แห่ง จะช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีผู้ถือบัตรอยู่ 11.4 ล้านคน ซึ่งมีค่าเฉลี่ย 300 คนต่อ 1 ร้านค้า
สำหรับปัญหาการคืนเครื่องรูดบัตร มีข้อมูลจนถึงขณะนี้ว่า มี 1,428 เครื่อง ซึ่งมีสาเหตุมาจากร้านค้าไม่มีกำลังในการสต๊อกสินค้า เพราะต้องซื้อเงินสด แต่ไม่มีเงินเพียงพอ หรือซื้อครั้งละน้อยๆ ทำให้ไม่มีใครส่งสินค้าให้
โดยกระทรวงฯ ได้เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาให้ร้านค้าในพื้นที่สร้างเครือข่ายและรวมตัวกันสั่งซื้อสินค้า เพื่อที่จะได้ลดต้นทุนในการสั่งซื้อสินค้า และบางรายมียอดขายเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และกังวลเรื่องการเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 3% จึงได้ขอคืนเครื่อง ซึ่งกระทรวงฯ ได้นำเครื่องที่ได้รับคืนไปติดตั้งให้ร้านค้ารายอื่นที่ต้องการเข้าร่วมโครงการแล้ว
“ปัญหาเรื่องภาษี กระทรวงฯ ได้พยายามเข้าไปให้ความรู้และสร้างความเข้าใจให้กับร้านค้าว่าไม่ใช่ปัญหาใหญ่ หากมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็ให้จดทะเบียนตั้งเป็นนิติบุคคล จะเป็นห้างหุ้นส่วนหรือเป็นบริษัทก็แล้วแต่ เมื่อตั้งแล้ว ปัญหาเรื่องภาษีก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะหักภาษีซื้อขายได้ และยังหักค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจได้ด้วย ทั้งค่าเช่าร้าน ค่ารถ ค่าน้ำมัน ค่าคนงาน ทำไปทำมา เสียภาษีไม่เท่าไร แต่ก็ดีกับร้านค้าเอง ที่จะได้มีตัวตน และขอรับการสนับสนุนจากรัฐได้ง่ายขึ้น”นายวิชัยกล่าว
นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังมีแผนที่จะจัดฝึกอบรมเทคนิคการทำธุรกิจให้กับร้านค้าธงฟ้าประชารัฐที่ ทั้ง 40,000 แห่ง ให้เข้ามาเรียนรู้การทำธุรกิจ การพัฒนาร้านค้า การเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผ่านทางออนไลน์ ความรู้ด้านภาษี การจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล กำหนดระยะเวลาไว้ประมาณ 5 วัน เพื่อให้ร้านค้ามีการพัฒนาไปสู่การเป็นร้านโชห่วยไฮบริดและมีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมั่นใจว่า หากร้านค้ามีความเข้มแข็ง ก็จะทำให้เป็นที่พึ่งให้กับผู้ถือบัตรและผู้มีรายได้น้อย ที่จะหาซื้อสินค้าราคาถูก และลดค่าครองชีพได้จริง
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของร้านค้าที่กระทำความผิด กระทรวงฯ จะดำเนินการขั้นเด็ดขาด ทั้งการปลดออกจากการเข้าร่วมโครงการ และยึดคืนเครื่องรูดบัตร โดยล่าสุดได้ตรวจสอบพบอีกที่จังหวัดมุกดาหาร และเชียงราย พบว่า มีการรวบรวมบัตรจากผู้ถือบัตร มีการจัดของขายรวมชุด และบวกภาษีมูลค่าเพิ่ม และขายราคาสูงกว่าร้านอื่น ซึ่งได้เข้าไปจัดการแล้ว และหากประชาชนพบเห็น หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็ให้ร้องเรียนเข้ามาได้ ทั้งผ่านสายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ