มหาสารคาม เดิมเป็น บ้านลาดกุดยางใหญ่ ได้รับการยกขึ้นเป็น เมืองมหาสาลคาม สมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2408 ขึ้นกับเมืองร้อยเอ็ดและโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวมหาชัย (กวด ภวภูตานนท์) เป็นพระเจริญราชเดช เจ้าเมือง มีท้าวบัวทองเป็นอุปฮาด และในปี 2412 เมืองมหาสารคาม จึงแยกจากเมืองร้อยเอ็ดขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ
มหาสารคาม เป็นมหามงคลนามที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดพระราชทานใน ปีจุลศักราช 1227 เป็นปีที่ 15 ในรัชกาล ตรงกับพุทธศักราช 2408 ต่อมาคนในสมัยหลังเริ่มสงสัยว่า คำว่า “มหาสารคาม” มีความหมายว่าอย่างไร ทำไมจึงตั้งชื่ออย่างนั้น ก็พบว่ามีผู้สันนิษฐานไว้ 3 แนว คือ
มหาสารคาม แปลว่า หมู่บ้านอันใหญ่ที่เป็นแก่นสารมั่นคง
มหาสารคาม น่าจะมาจากมหาศาล หมายถึง หมู่บ้านที่มีสาระเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่
มหาสารคาม น่าจะมีความหมายว่า ถิ่นฐานที่อุดมสมบูรณ์ด้วยความดีงามทั้งปวง
อย่างไรก็ตามลองมาฟังอีกทัศนะหนึ่งบ้าง…จะเป็นอย่างไร
หลวงผดุงแคว้นประจันต์ (จันทร์ อุตตรนคร) ได้เขียนไว้ในหนังสือ ชื่อลัทธิธรรมเนียมต่างๆมีข้อความเกี่ยวกับการ “สร้างบ้านแปลงเมือง” ตอนหนึ่งว่า
…เดิมก็เป็นบ้านหนึ่งๆ ซึ่งมีผู้คนอยู่มากมายหลายสิบหลังคาเรือน เป็นบ้านที่มีทำเลดี คืออยู่ใกล้แม่น้ำและบึงหนองใหญ่และมีท้องทุ่งที่ควรจะทำนาได้มาก ทั้งป่าดงที่จะทำไร่ก็บริบูรณ์ดีและผู้คนซึ่งอยู่ในบ้านนั้นค่อนข้างจะมั่งคั่งด้วยทรัพย์เงินทอง กว่าบ้านอื่น บรรดาที่อยู่ใกล้เคียงหรือบางทีผู้ที่เป็นหัวหน้าในบ้านนั้นมีสติปัญญาดีมีผู้คนนับถือมากก็พากันคิดจัดรวบรวมขอร้องต่อมหานครอันตนได้ขึ้นอยู่ เพื่อได้รับอนุญาตตั้งบ้านขึ้นเป็นเมือง ครั้งได้รับอนุญาตแล้ว ก็ตั้งขึ้นเป็นเมือง….
ซึ่งชื่อ มหาสารคาม มาจากคำว่า มหา แปลว่า ใหญ่ ยิ่งใหญ่ คำว่า สาร เพี้ยนมาจาก สาละ และคำว่า คาม แปลว่า บ้าน หมู่บ้าน รวมความหมายถึง บ้านต้นยางใหญ่ หรือต้นสาละใหญ่ (สาละเป็นไม้ตระกูลยางชนิดหนึ่ง)
ชื่อจังหวัด “มหาสารคาม” ที่ปรากฏปัจจุบันนั้น แต่เดิมเขียนว่า “มหาษาลคาม” หรือ “มหาสาลคาม” จากเอกสารเก่าร่วมสมัยการตั้งเมืองและแต่งตั้งตำแหน่งหน้าที่ผู้ดูแลเมือง ในสารตราเจ้าพระยาจักรีฯ แม้สะกดหลายอย่างทั้งมหาสาลคาม มหาษาลคาม มหาษารคาม แต่ไม่มีปรากฏว่าสะกดเป็น “มหาสารคาม” เลย
ประกอบกับชื่อเดิมว่า “บ้านกุดยางใหญ่” (บางครั้งชาวบ้านเรียก กุดนางใย มีนิทานท้องถิ่นผูกเรื่องอธิบาย) ซึ่งคำว่า “กุด” เป็นภาษาท้องถิ่นหมายถึง บึง แหล่งน้ำ หรือลำน้ำด้วน แต่ทางราชการเข้าใจว่า “กุด” หมายถึง “กุฏิ” ที่แปลว่าที่อยู่อาศัย จึงใช้คำว่า “คาม” ที่มีความหมายเดียวกันมาตั้งชื่อ คำว่า “ยาง” หมายถึง ต้นยาง ส่วน “ใหญ่” ตรงกับคำ “มหา” ที่นำมาใส่ในชื่อ ดังนั้นชื่อ มหาสาลคาม จึงน่าจะสอดคล้องกับความหมายเดิมของชื่อท้องถิ่นมากกว่า
นามบ้านนามเมือง เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสนใจทั้งความหมายและที่มา เพราะมีเรื่องราวของท้องถิ่นอยู่ในชื่อนามนั้น ที่คนรุ่นหลังอาจเข้าใจไขว้เขวไปจากความเดิม
รวบรวมข้อมูลจาก: เรือนอินทร์ หน้าพระลาน, หนังสือวารสารเทศบาลเมืองมหาสารคาม