มืดแปดด้าน! กับปัญหาแก้ไม่ตก รพ.รัฐ “เตียงเต็ม” แม้ รพ.เอกชนจะรักษาดี๊ดีแต่ทรัพย์จางกระเป๋าฉีก ล่าสุด มีผู้ร้องทุกข์น้องสาวป่วยชักโคม่าแต่ห้องไอ.ซี.ยู.รพ.ต้นสังกัดบัตรทองเต็ม ขอยื้อชีวิตน้องย้ายมา รพ.เอกชน แต่ตอนนี้แบกรับภาระค่าใช้จ่ายกว่าครึ่งล้านไม่ไหวแล้ว ควานหาเตียง รพ.รัฐกว่า 10 แห่งกว่าจะได้เลือดตาแทบกระเด็น! ขนาด หมอยังแฉ! “เตียงเต็ม” ปัญหาอันเป็นนิรันดร์!
ทุกข์ตรม เพราะเตียงเต็ม
“ชีวิตนี้ไม่คิดไม่ฝันว่าต้องมานั่งทำอะไรแบบนี้” พี่ชายของ น้องพีพี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวขอความช่วยเหลือผ่านโลกโซเชียลฯ ขอรับบริจาคหวังต่อชีวิตน้อง เศร้า! ยอดค่ารักษาน้องในโรงพยาบาลเอกชนพุ่งกระฉูดกว่าครึ่งล้าน เหตุเตียง รพ.ต้นสังกัดเต็ม
https://www.facebook.com/pitchanton/posts/2108331086071207
“น้องสาวผมชื่อพีพี อายุ 20 ปี ตอนนี้ป่วยหนัก อยู่ รพ. เริ่มแรกวันที่ 15 พ.ค. น้องผมเหมือนเป็นไข้ไม่สบาย จึงไปหาหมอที่ รพ.ต้นสังกัด แห่งหนึ่ง หมอนัดตรวจเลือดทั้งหมด 3 ครั้ง เพื่อเช็กดูว่าเป็นโรคไข้เลือดออกหรือไม่ ตรวจไป 2 ครั้ง ครั้งที่ 3 ตรงกับวันที่ 17 พ.ค.น้องมีเรียน น้องจึงได้ขออนุญาตแพทย์ไปตรวจเลือดครั้งสุดท้ายกับ รพ.ที่อยู่ติดกับหอพักของน้อง ซึ่งแพทย์อนุญาต หลังจากน้องเรียนเสร็จจึงไปหาหมอเพื่อตรวจเลือดครั้งสุดท้าย
แต่เนื่องจาก รพ.นี้เป็น รพ.รัฐ ดังนั้นคิวการรักษาจึงมาก ปกติเวลาเราไปตรวจกับ รพ.รัฐ ต้องไปรับหรือจองคิวกันตั้งแต่เช้ามืด บางทีไปรับคิวแต่เช้าแต่ได้ตรวจบ่ายก็มี ซึ่งน้องผมเรียนเสร็จประมาณ 10 โมงเช้า ไม่ต้องคิดเลยว่าจะต้องรอคิวนานขนาดไหน รอจนกระทั่งเพื่อนน้องผิดสังเกตว่าทำไมน้องสาวผมไม่กลับหอพักสักที จึงไปตามที่ รพ. พอเพื่อนน้องไปถึง ตอนนั้นน้องผมอาการเริ่มหนักแล้ว น้ำลายไหลออกจากปากแบบควบคุมไม่ได้ การตอบสนองช้า และ เริ่มเบลอเพื่อนน้องจึงไปแจ้งพยาบาลหลังจากนั้นจึงเข้าห้องฉุกเฉิน และ ทาง รพ.ก็ส่งต่อกลับมาที่ รพ. ต้นสังกัดแทน
เวลาประมาณ 2 ทุ่มของวันที่ 17 พ.ค. น้องสาวถูกส่งตัวถึง รพ.ต้นสังกัด ทาง รพ. ก็ตรวจรักษาเบื้องต้นตามอาการ ตอนนี้น้องเริ่มมีอาการชัก จึงมีการเจาะหลังครั้งแรกเพื่อเอาเชื้อไปเพาะเชื้อหาสาเหตุ แต่เนื่องจากห้อง icu ของ รพ. ณ ตอนนั้นเต็ม จึงต้องรอคิวก่อน ซึ่งทางครอบครัวผมรอไม่ไหว เนื่องจากเห็นว่าน้องแย่ลงทุกทีทุกที จึงติดต่อขอย้ายจาก รพ.ต้นสังกัด มา รพ.รามคำแหง แพทย์และพยาบาลที่นี่ดีมาก
ตั้งแต่น้องผมย้าย รพ. มาจนถึงวันนี้ ก็ยังคงอยู่ icu อยู่ อาการทรงตัว รับรู้ ตอบสนอง แต่ยังออกจาก icu ไม่ได้เนื่องจากน้องยังมีอาการชักและกระตุกอยู่เรื่อยๆ จึงต้องอยู่ในความดูแลของพยาบาลอย่างใกล้ชิด แต่เนื่องจากตอนนี้ทางครอบครัวผมเริ่มรับภาระค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลที่แทบจะเฉียดล้านเข้าไปทุกที (630,000 บาท )ไม่ไหวแล้ว จึงอยากจะย้ายไป รพ.รัฐ ซึ่งน่าจะเซฟเรื่องค่าใช้จ่ายมากกว่านี้”
ทว่า ความยากลำบากเริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อขั้นตอนการย้ายจาก รพ.เอกชน ไป รพ.รัฐ นั้นยากพอๆกับงมเข็มในมหาสมุทร
พี่ชายของ น้องพีพี ซึ่งเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว ผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาเตียง รพ.รัฐเต็ม ตัดสินใจโทร.ปรึกษา สปสช.หวัง รพ.ต้นสังกัดออกหนังสือส่งตัวให้
“ก่อนที่จะได้เตียง ผมก็รู้จักกับพี่พยาบาลที่ รพ. ที่เราคุยจนคุ้นเคย ได้แนะนำขั้นตอนต่างๆ ว่าควรจะทำอย่างไร ถึงแม้จะบอกว่ายาก แต่ก็ยังมีความหวังนะ พี่เค้าแนะนำให้ติดต่อไปที่ รพ.ต้นสังกัด เพื่อให้ทำหนังสือส่งตัวผู้ป่วยไป รพ. ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น หรือ มีอุปกรณ์หรือเตียงที่พร้อมมากกว่า ครั้งแรกที่ทางเราติดต่อกลับไปที่ รพ. ต้นสังกัด ได้รับคำตอบว่า ทาง รพ. สามารถที่จะรักษาได้ จึงไม่ทำหนังสือยินยอมให้ย้ายไป รพ.รัฐ อื่นๆได้
แต่ทางครอบครัวรู้สึกไม่โอเคกับ รพ.ต้นสังกัดไปแล้ว เพราะ ก่อนที่จะย้ายมา รพ.รามคำแหง ก็ไปอยู่ รพ.ต้นสังกัดมาก่อน ซึ่งตอนนั้นเค้าแค่ดูอาการต่างๆ ของน้อง จนอาการน้องแย่ลง และห้องไอ.ซี.ยู.ไม่ว่าง ทางครอบครัวจึงเกิดความไม่มั่นใจในการรักษา จึงขอย้ายมา รพ.รามคำแหง พอได้รับคำตอบปฏิเสธการส่งตัวจาก รพ. ต้นสังกัด ทางพี่พยาบาลจึงแนะนำให้ติดต่อไปที่ สปสช. และให้เล่าเรื่องต่างๆ และความจำเป็นให้ทาง สปสช. ฟัง วันรุ่งขึ้น ทาง รพ. ต้นสังกัดจึงออกหนังสือส่งตัวให้
แต่ทาง รพ. ต้นสังกัดแจ้งว่า ขอให้ไปหา รพ. ที่มีเตียงว่างมา เพื่อจะได้ระบุลงไปในหนังสือส่งตัว ความมืดแปดด้านกลับมาอีกรอบ ผมจะเช็กได้ยังไง ผมจะรู้ได้ยังไง ว่า รพ. ไหนบ้างที่น้องผมสามารถย้ายไปได้บ้างเรื่องนี้คือความเป็นความตายน้องเลย เพราะผมไม่รู้เลยว่า รพ.ใด มีความสามารถในการรักษาน้องสาวผมได้บ้าง ทางพี่พยาบาลจึงแนะนำให้เริ่มติดต่อจาก รพ. ใหญ่ๆก่อน หลังจากได้รับคำแนะนำเบื้องต้น แม่และผมก็เริ่มหา…ผ่านไป 1 วัน ยังไม่มี รพ.ใด ที่มีเตียงว่างเลย”
อย่างไรก็ดี ความหวังเริ่มมีมากขึ้น เมื่อเขาได้รับคำแนะนำจากเพื่อนคนหนึ่ง ที่ช่วยแนะนำ รพ. ต่างๆให้ และ อธิบายให้ฟังถึงขั้นตอนการส่งตัว และจะทำอย่างไรให้ รพ.รัฐ แต่ละ รพ. รับรักษาน้องสาวได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ดี หลังจากเขาได้ไปมากว่า 10 โรงพยาบาลแล้ว จนท.แต่ละ รพ.ก็ยังให้จองคิว รอคิว และให้โทร.สอบถามเรื่อยๆ ว่าถึงคิวหรือยัง เนื่องจากทาง รพ. ต่างๆก็ไม่สามารถระบุได้ว่า จะมีห้อง icu ว่างหรือเตียงว่างตอนไหน สุดท้ายโชคดีได้เตียงห้องไอ.ซี.ยู. โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้เตียงตอนประมาณเกือบ 1 ทุ่ม จึงรีบเคลื่อนย้ายน้องสาวในคืนนั้น
ส่วนอาการของน้องพีพี ล่าสุดว่า ทางทีมแพทย์ รพ.รามาฯ ตรวจสอบอาการของน้องต่างๆ เบื้องต้นยังไม่พบสาเหตุของโรค แพทย์แจ้งว่ามีอีกหนึ่งสาเหตุที่คาดว่าจะเป็นคือโรคแพ้ภูมิตนเอง นี้ทางแพทย์ได้แจ้งค่ารักษาพยาบาลโรคนี้เบื้องต้นประมาณ 140,000 บาท เป็นกลุ่มยาที่อยู่นอกสิทธิ์การรักษาซึ่งจะต้องจ่ายเงินเอง
คนไข้ทะลัก ปัญหาสะสมเกินบริการ
สำหรับในมุมมองแพทย์ผู้บริหารของโรงพยาบาลรัฐชื่อดังแห่งหนึ่ง เคยให้สัมภาษณ์ทีมผู้จัดการ live ต่อประเด็นปัญหาเตียงของโรงพยาบาลรัฐไม่เพียงพอ ชี้ปัจจุบันคนไข้ล้น โดยเฉพาะโรงพยาบาลแพทย์ เพราะทุกคนมั่นใจในศักยภาพการรักษานั่นเอง
“เราดูแลผู้ป่วยนอกประมาณ 2 ล้านครั้งต่อปี ผู้ป่วยในราว 70,000 คนต่อปี เราให้การบริการเกินศักยภาพที่เรามีอยู่ไปมาก
แผนกผู้ป่วยนอกออกแบบไว้สำหรับรองรับผู้ป่วย 3,500 คนต่อวัน แต่การบริการจริงๆตอนนี้เกิน 5,000 คนทุกวัน ยิ่งในช่วงหลังจากวันหยุด หรือหลังวันหยุดยาว เช่นสงกรานต์ บางทีจะถึง 8,000 คนต่อวัน สาธารณูปโภคต่างๆเตรียมไว้ไม่พอ เป็นความลำบากของโรงพยาบาลของรัฐ เหมือนกันเกือบทุกแห่ง
ในแต่ละวันที่ห้องฉุกเฉิน จะมีคนไข้นอนรอเตียงเพื่อเข้าอยู่เป็นผู้ป่วยใน เฉลี่ยประมาณ 40-50 คนทุกวัน ในบางวันอาจรอถึงร้อยคน แต่โรงพยาบาลไม่มีเตียงที่จะรองรับ เพราะเตียงเราเต็มหมดทุกเตียง คนไข้หลายคนไม่เข้าใจจะเอาเตียงมาเองจากบ้าน แต่ความจริงไม่ใช่เรื่องเตียง เป็นเรื่องของสถานที่เครื่องมือทางการแพทย์และกำลังคนในการให้การดูแลผู้ป่วย
ทุกวันนี้บริการรักษาพยาบาลของรัฐ เป็น “บริการขาดทุน” ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เข้ามาใช้บริการ มาภายใต้ 3 กองทุนสวัสดิการของรัฐ เช่น ประกันสุขภาพแห่งชาติ สวัสดิการข้าราชการ และประกันสังคม แต่โรงพยาบาลได้รับค่าตอบแทนจากกองทุนเหล่านี้ต่ำกว่าที่เป็นจริง”
“เตียงเต็ม” เป็นปัญหามาสะสมเนิ่นนานอยู่คู่กับสังคมไทย ขนาดที่ว่า แพทย์เอง ยังบอกว่า “ปัญหาอันเป็นนิรันดร์” อย่างที่ชมรมแพทย์เพื่อวิชาชีพแพทย์ (ชพพ.) เคยแชร์ข้อความของแพทย์ผู้หนึ่ง แชร์ประสบการณ์ตรงจากการถูกปฏิเสธรับคนไข้โดยโรงพยาบาลใหญ่ ด้วยคำว่า “เตียงเต็ม” จนคนไข้ตาย! พร้อมระบุว่า เป็นปัญหาที่รู้อยู่แก่ใจ แต่ไม่มีใครอยากพูดถึง
….ปัญหาเตียงเต็มเป็นระเบิดเวลา จะไปปลดมันเองหรือให้ระเบิดแล้วตามเก็บซากความเสียหายทีหลัง แต่อย่าลืมว่าคนรับกรรมคือประชาชนตาดำๆนี่แหล่ะ
ที่มา :MGR online