ศาลเเพ่งสั่งฟอร์ดจ่าย 23 ล้านเศษคดีเเบบกลุ่มครั้งเเรก หลังจำหน่ายรถยนต์ไม่ได้มาตราฐานกับลูกค้านับร้อย อัยการธนกฤต เเจงขั้นตอนหลังศาลมีคำพิพากษา
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 21 กันยายน 2561 ที่ห้องพิจารณา 1005 ชั้น 10 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ถ.เจริญกรุง 63 นายโอภาส อนันตสมบูรณ์ อธิบดีอัยการผู้พิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ , นายรัฐวิชญ์ อนันตวิทยานนท์ เลขานุการศาลแพ่งกรุงเทพใต้ พร้อมองค์คณะ 3 คน อ่านคำพิพากษาคดีผู้บริโภค หมายเลขดำ ผบ.492/2560
“กลุ่มผู้ใช้รถยนต์ฟอร์ดรุ่นเฟียสต้าและรุ่นโฟกัส 308 ราย” ยื่นฟ้องบริษัท ฟอร์ด เซลส์ แอนด์เซอร์วิสแห่งประเทศไทย จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในการเป็นผู้สั่งผลิตและจำหน่ายในประเทศไทย เป็นจำเลยเรื่องชำรุดบกพร่อง , สินค้าไม่ปลอดภัย เนื่องจากการผลิตและจัดจำหน่ายรถยนต์ชำรุดบกพร่องไม่ได้มาตรฐาน ไม่เป็นไปตามคำโฆษณา และทำให้ผู้บริโภคเสี่ยงอันตราย เรียกค่าเสียหายเชิงลงโทษและจิตใจ รวมจำนวน 24,751,420.95 บาท (จำเลยตอนเเรกมี4จำเลยอื่นมีการถอนฟ้องไปเเล้วก่อนหน้านี้)
โดยศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จในเวลา 11.15 น. โดยให้จำเลย ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ได้รับความเสียหายจำนวน 296 รายโดยกำหนดค่าซ่อมราคาจากการเข้าซ่อม เเละวันขาดประโยชน์ใช้รถยนต์ของโจทก์เเละสมาชิกเเต่ละราย รายละตั้งแต่ 20,000 บาทเศษ – 200,000 บาท เศษ รวมเป็นเงิน 23 ล้านบาทเศษ พร้อมชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อไป และให้จำเลยชำระค่าทนายความแทนโจทก์ 150,000 แสนบาท พร้อมเงินรางวัลแก่ทนายความ 800,000บาท ตามกฎหมายด้วย และให้บังคับคดีตามคำพิพากษาให้เสร็จภายใน 7 วัน
สำหรับคดีในวันนี้มีโจทก์ 12 รายจาก 308 รายที่ได้ดัดเเปลงสภาพรถหรือไม่เคยนำรถยนต์เข้าซ่อมเกี่ยวกับการเปลี่ยนชิ้นส่วนที่เกี่ยวกับชุดคลัตช์ เเละกล่องควบคุมโมดุลเกียร์ ซึ่งศาลสั่งยกฟ้องให้จำเลยไม่ต้องชดใช้โดยภายหลังมีคำพิพากษาได้มีตัวเเทนทนายความอธิบายกระบวนการดำเนินคดีเเบบกลุ่ม เเละให้สมาชิกเข้าไปตกลงกันในกลุ่มอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อภายหลังศาลมีคำพิพากษา
ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด และอนุกรรมการพิจารณาแก้ไขกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ของวิธีพิจารณาความแพ่งสากล สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้กล่าวอธิบายกระบวนการภายหลังศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำพิพากษาในคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ที่กลุ่มผู้บริโภครวมตัวยื่นฟ้องบริษัทฟอร์ด เซลส์ แอนด์เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นจำเลย ว่า
คำพิพากษาของศาลในการดำเนินคดีแบบกลุ่มจะกล่าวถึงลักษณะโดยชัดเจนของกลุ่มบุคคลหรือกลุ่มย่อยที่จะต้องถูกผูกพันตามคำพิพากษา และในกรณีที่ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงิน คำพิพากษาต้องระบุจำนวนเงินที่จำเลยต้องชำระให้แก่โจทก์ รวมทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณในการชำระเงินให้สมาชิกกลุ่ม
หลังจากศาลมีคำพิพากษาในการดำเนินคดีแบบกลุ่มให้โจทก์ชนะคดีแล้ว ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงินหรือชำระหนี้เป็นเงินรวมอยู่ด้วย ศาลจะประกาศและส่งคำบอกกล่าวแจ้งคำพิพากษาให้อธิบดีกรมบังคับคดีและสมาชิกกลุ่มทราบ เพื่อให้สมาชิกกลุ่มยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในเวลาที่ศาลกำหนด โดยโจทก์หรือทนายความฝ่ายโจทก์เท่านั้นที่จะมีอำนาจดำเนินการบังคับคดีแทนสมาชิกกลุ่มทั้งหมด
ส่วนสมาชิกกลุ่มมีสิทธิที่จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ แต่ไม่มีสิทธิที่จะดำเนินการบังคับคดีด้วยตนเอง และเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาคำขอรับชำระหนี้ สมาชิกกลุ่มมีสิทธิโต้แย้งคัดค้านคำขอรับชำระหนี้ของสมาชิกกลุ่มคนอื่นได้ และสมาชิกกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งในเรื่องคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานบังคับคดีสามารถยื่นคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีต่อศาลได้ และหากสมาชิกกลุ่มไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลก็สามารถอุทธรณ์และฎีกาได้
คู่ความในการดำเนินคดีแบบกลุ่มสามารถอุทธรณ์และฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล โดยไม่นำข้อจำกัดสิทธิเรื่องทุนทรัพย์ของการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงมาใช้บังคับ ส่วนสมาชิกกลุ่มเนื่องจากไม่ได้เป็นคู่ความในคดีจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล เว้นแต่เป็นการอุทธรณ์และฎีกาคำสั่งของศาลในเรื่องคำสั่งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานบังคับคดี
เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รวบรวมเงินหรือทรัพย์สินของจำเลยเสร็จและหักค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีแล้ว กฎหมายกำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินให้ผู้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนที่เป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิเป็นลำดับแรก จากนั้นจ่ายเงินรางวัลของทนายความฝ่ายโจทก์ แล้วจึงจ่ายค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนโจทก์เป็นลำดับถัดไป และจึงจ่ายให้โจทก์ สมาชิกกลุ่ม และเจ้าหนี้อื่นที่มีสิทธิได้รับเฉลี่ยทรัพย์ เป็นลำดับสุดท้าย
ในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ทนายความฝ่ายโจทก์จะมีบทบาทสำคัญในการรวบรวมผู้เสียหาย ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน เพื่อประกอบการเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยและเป็นผู้ออกเงินทดรองค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีไปก่อน กฎหมายจึงกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินรางวัลทนายความฝ่ายโจทก์ไว้เป็นการเฉพาะ
โดยกำหนดให้จำเลยเป็นผู้จ่ายเงินรางวัลทนายความฝ่ายโจทก์ (ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายการดำเนินคดีแบบกลุ่มของสหรัฐอเมริกาที่สมาชิกกลุ่มจะเป็นผู้จ่ายเงินรางวัลทนายความ) และศาลจะกำหนดจำนวนเงินรางวัลโดยพิจารณาถึงความยากง่ายของคดีประกอบกับระยะเวลาและการทำงานของทนายความฝ่ายโจทก์ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม และในกรณีที่คำพิพากษาของศาลกำหนดให้จำเลยใช้เงิน จำนวนเงินรางวัลของทนายความฝ่ายโจทก์ต้องไม่เกินร้อยละสามสิบของจำนวนเงินที่โจทก์และสมาชิกกลุ่มมีสิทธิได้รับ
ที่มา : มติชนออนไลน์