เตรียมออกกฎหมาย “ป้องกันนายทุนฮุบที่ดินชาวบ้าน” โดยกำหนดสัญญาเป็นธรรม มีเจ้าหน้าที่ช่วยตรวจสอบและเป็นพี่เลี้ยงป้องกันนายทุนเอาเปรียบยึดที่ดิน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้เร่งยกร่างกฎหมายใหม่ คือ พ.ร.บ. คุ้มครองประชาชนในการขายฝากที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย เพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน ป้องกันถูกนายทุนยึดที่ดินอย่างไม่เป็นธรรม โดยกำหนดให้การขายฝากเป็นธุรกิจคุ้มครองของผู้บริโภค ต้องทำเป็นหนังสือที่ได้รับการตรวจสอบเนื้อหาสัญญา จากนิติกรหรือพนักงานที่ดิน ก่อนนำไปจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดิน มีรายละเอียดทั้งชื่อของคู่สัญญา แหล่งที่ตั้ง จำนวนสินไถ่อัตราดอกเบี้ย วันกำหนดการชำระอย่างชัดเจน
นอกจากนี้การสละสิทธิไถ่ถอนไม่สามารถทำได้ เพื่อป้องกันการตั้งใจให้ที่ดินหลุดมือจากเกษตรกรตั้งแต่ต้น รวมถึงกำหนดให้การทำสัญญาขายฝากมีระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี หรือ 1 ปีครึ่ง เพื่อป้องกันการทำสัญญาระยะสั้น และการไถ่ถอนสามารถทำได้สะดวกขึ้น นายทุนไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้โดยง่ายอีกต่อไป
ทั้งนี้คาดว่ากฎหมายใหม่ฉบับนี้ จะช่วยปิดช่องโหว่และแก้ปัญหาการสูญเสียที่ดินจากสัญญาที่ไม่เป็นธรรมของพี่น้องเกษตรกรได้ เกษตรกรต้องเรียนรู้ เพราะมีความสำคัญอย่างมาก
ทั้งนี้ปัญหาที่ผ่านมา ประชาชนหลายรายได้รับความเดือดร้อนจากการเป็นหนี้ โดยการกู้ยืมเงินที่มีการขายฝากที่ดิน ซึ่งมักไม่ได้รับความเป็นธรรม จนต้องสูญเสียที่ดินที่เป็นทรัพย์สินเพียงอย่างเดียว แล้วก็เป็นเครื่องมือหารายได้ของครอบครัว ที่ผ่านมาแม้จะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขายฝาก ซึ่งกำหนดระยะเวลาไถ่ถอน เพดานของอัตราดอกเบี้ย และกระบวนการในการทำสัญญาไว้แล้ว แต่ก็ยังมีช่องว่างให้เกิดการทำนาบนหลังคน เอารัดเอาเปรียบพี่น้องเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากผู้ขายฝาก มักไม่มีอำนาจต่อรอง แต่ต้องการเงินทุนเร่งด่วน บางทีก็ไม่เข้าใจกฎหมาย จึงทำให้ผู้รับซื้อหรือนายทุนใจร้าย ชักจูงให้ทำสัญญาขายฝากที่ดินแบบไม่เป็นธรรม อาทิ กำหนดระยะเวลาไถ่ถอนให้สั้นมาก เช่น ต้องมาไถ่ถอนใน 3-4 เดือน ก็เป็นไปได้ว่าผู้ขายฝาก ไม่มีทางหรือไม่สามารถจะหาเงินมาไถ่ถอนได้ทัน ต้องทำสัญญาใหม่บ่อยๆ ทุกครั้งต้องเสียเงินในการทำสัญญาหลายหมื่นบาท หรือเวลาที่ครบกำหนดสัญญาไม่สอดคล้องกับการเพาะปลูก ทำให้พี่น้องเกษตรกรไม่สามารถหาเงินมาไถ่ถอนได้ จนต้องสูญเสียทรัพย์สินไปในที่สุด
ปัจจุบันประเทศไทยมีที่ดินทำกินรวม 300 ล้านไร่ ในจำนวนนี้มีที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 150 ล้านไร่ และครึ่งหนึ่งของ 150 ล้านไร่นี้ เป็นที่ดินที่เกษตรกรต้องเช่าจากคนอื่นในการทำกิน ก็สะท้อนให้เห็นว่า เกษตรกรในกลุ่มนี้อาจเป็นผู้ที่สูญเสียที่ดินไปแล้ว จากกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา ยิ่งกว่านั้นที่ดินราว 30 ล้านไร่จากส่วนที่เหลือ 70 ล้านไร่นั้นก็อยู่ในระหว่างการจำนองและการขายฝาก โดยที่ดินที่มีการขายฝากอาจมีอยู่หลายแสนไร่ และก็มีโอกาสหลุดมือสูงมาก เนื่องจากนายทุนหลายคน อาศัยกฎหมายฉบับเดิม เป็นช่องทางในการยึดที่ดินจากประชาชน โดยไม่ได้สนใจการชำระดอกเบี้ยการขายฝากนั้นเลย
ที่มา:สำนักประชาสัมพันธ์