วันปีใหม่ – ฉบับวานนี้ (26 พ.ย.) “กุ้งมังกร” ให้ย้อนประวัติ ทำไมวันที่ 1 มกราคม จึงเป็นวันปีใหม่ รวมทั้งของไทย เมื่อวานอ่านที่มาของสากลแล้ว วันนี้ว่าด้วยปีใหม่ประเทศไทย
สำหรับประเทศไทย แต่เดิมเรา (สยาม) ถือเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย (ตรงกับเดือนมกราคม) เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับคติพุทธศาสนาที่ถือช่วงเหมันต์หรือหน้าหนาวเป็นการเริ่ม ต้นปี ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงไปตามคติพราหมณ์ฮินดูที่รับมาพร้อมกับศาสนาจากอินเดีย รวมถึงการถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งตรงกับวัน “มหาสงกรานต์” และนับเป็นวันเปลี่ยนรอบนักษัตรเป็นวันขึ้นปีใหม่
เกี่ยวกับการให้ฤดูหนาวเป็นจุดเริ่มต้นปี ใหม่ ด้วยโบราณคิดเห็นว่าฤดูหนาวเป็นเวลาพ้นจากมืดฝน สว่างขึ้นเปรียบเหมือนเวลาเช้า จึงได้คิดนับเอาฤดูหนาวเป็นต้นปี ฤดูร้อนเป็นเวลาสว่างร้อนเหมือนกลางวัน จึงได้คิดว่าเป็นกลางปี ฤดูฝนเป็นเวลามืดครึ้มโดยมาก และฝนพรำเที่ยวไปไหนไม่ใคร่ได้ จึงได้คิดเห็นว่าเป็นเหมือนกลางคืน คนทั้งปวงเป็นอันมากถือว่าเวลาเช้าเป็นต้นวัน กลางคืนเป็นปลายวันฉันใด คนโบราณก็คิดเห็นว่า ฤดูเหมันต์คือฤดูหนาวเป็นต้นปี ฤดูคิมหันต์คือฤดูร้อนเป็นกลางปี ฤดูวัสสาน (วสันต์) คือฤดูฝนเป็นปลายปี เพราะเหตุนั้นจึงได้นับชื่อเดือนเป็น 1 มาแต่เดือนอ้าย
สยามนับวันขึ้นปีใหม่อย่างนี้มาจนกระทั่ง ถึงสมัยรัชกาลที่ 5 แต่โดยที่การนับวันปีใหม่หรือวันสงกรานต์ตามวันทางจันทรคติ เมื่อเทียบกับวันทางสุริยคติ ย่อมคลาดเคลื่อนกันไปในแต่ละปี ดังนั้นในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปี พ.ศ. 2432 ซึ่งตรงกับวันที่ 1 เมษายน รัชกาลที่ 5 จึงให้ถือเอาวันที่ 1เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย เพื่อวันปีใหม่จะได้ตรงกันทุกปีเมื่อนับทางสุริยคติ (แม้ว่าวันขึ้น 1ค่ำ เดือน 5 ปีต่อๆ มาจะไม่ตรงกับวันที่ 1 เมษายน แล้วก็ตาม) ดังนั้นจึงถือเอาเดือนเมษายนเป็นเดือนแรกของปีนับแต่นั้น ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะในชนบทยังคงยึดถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่
ครั้นเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบ ประชาธิปไตย ทางราชการเห็นว่าวันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน มักจะไม่มีงานรื่นเริงอะไรมากนัก และเห็นสมควรที่จะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ จึงได้ประกาศให้มีงานรื่นเริงวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2477 ขึ้นในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก จนแพร่หลายออกไปต่างจังหวัดในปีต่อๆ มา โดยในปี พ.ศ. 2479 ได้จัดงาน ปีใหม่ทั่วทุกจังหวัด มีชื่อทางราชการ “วันตรุษสงกรานต์”
ต่อมามีการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้งใน สมัยรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งมีนโยบายปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้เป็นสากล คณะรัฐมนตรีได้ตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งพิจารณาเรื่องวันขึ้นปีใหม่ มี หลวงวิจิตรวาทการ เป็นประธาน ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม โดยเหตุผลสำคัญคือ ไม่ขัดกับหลักพุทธศาสนาในการนับวัน เดือน และการร่วมฉลองปีใหม่ด้วยการทำบุญ, เลิกวิธีนำเอาลัทธิพราหมณ์มาคร่อมศาสนาพุทธ, ทำให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้อยู่ในประเทศทั่วโลก และเป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรม คตินิยม จารีตประเพณีของชาติไทย
วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2483 รัฐบาลออกประกาศชื่อ “ประกาศ ให้ใช้ วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่” จากประกาศนี้มีผลให้ประเทศไทยเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายน เป็นวันที่ 1 มกราคม ตั้งแต่ พ.ศ. 2484 เป็นต้นมา และทำให้ พ.ศ. 2483 เป็นปีที่สั้นที่สุด จากที่เคยยาวไปถึงวันที่ 31 มีนาคม ก็หดสั้นลงแค่วันที่ 31 ธันวาคม เหลือเพียง 9 เดือน เพราะได้ตัดเอาเดือนมกราคม–กุมภาพันธ์–มีนาคม ซึ่งนับเป็น 3 เดือนสุดท้ายปี พ.ศ. 2483 ตามธรรมเนียมการนับปีเดิม มาเป็นสามเดือนแรกของปี พ.ศ. 2484 แทน และตั้งแต่นั้นมาวันขึ้นปีใหม่ของไทยตรงกับวันที่ 1 มกราคมของทุกปี
ข้อมูลดีๆจาก :น้าชาติ รู้ไปโม้ด : วันปีใหม่ 1 มกราคม