เปิดศูนย์ 7 วันอันตราย วันแรกดับแล้ว 42 ราย เจ็บอีกกว่า 432 คน สาเหตุอุบัติเหตุสูงสุด ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 37.62 สั่งคุมเข้มถนนสายหลัก-รอง รับประชาชนแห่กลับบ้านปีใหม่
7 วันอันตราย / เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 28 ธ.ค. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2562 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2562 รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 28 ธ.ค. ซึ่งเป็นวันแรกของการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” เกิดอุบัติเหตุ 420 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 42 ราย ผู้บาดเจ็บ 432 คน
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 37.62 ขับรถเร็ว ร้อยละ 21.19 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 79.95 ส่วนใหญ่เกิดบนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 39.29 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 31.90 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01-20.00 น. ร้อยละ 34.52 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 31.22
ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,042 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 53,239 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 637,544 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดีรวม 114,177 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 34,165 ราย ไม่มีใบขับขี่ 30,923 คน ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 14,411 ราย
โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ และราชบุรี 19 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ขอนแก่น และลพบุรี 4 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 20 คน
นายวีระศักดิ์ กล่าวต่อว่า วันนี้ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยว โดยถนนสายหลักมุ่งสู่ภูมิภาคต่างๆ จะมีปริมาณรถหนาแน่น ศปถ.กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ในการดูแลเส้นทางหลัก สายรอง และเส้นทางเลี่ยงที่เชื่อมต่อระหว่างจังหวัด เข้มข้นการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจหลัก เพื่อกวดขันปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุตามมาตรการ 10 รสขม โดยเฉพาะขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ ไม่สวมหมวกกันน็อก ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย
อีกทั้งเพิ่มความถี่ในการเรียกตรวจรถโดยสารสาธารณะ กวดขันความพร้อมของพนักงานขับรถ เข้มงวดตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ ในผู้ขับขี่ทุกรายกรณีเกิดอุบัติเหตุที่มีผู้บาดเจ็บและชีวิต นอกจากนี้ เน้นย้ำให้ดูแลความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่จัดกิจกรรมรื่นเริงต่างๆ กำชับผู้ประกอบการธุรกิจรถเช่าให้ตรวจสอบสภาพรถให้มีความปลอดภัย และผู้เช่ารถต้องมีใบอนุญาตขับรถ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนนกับนักท่องเที่ยว
ขอฝากให้ผู้ใช้รถใช้ถนนวางแผนการใช้เส้นทางก่อนออกเดินทาง หลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางเลี่ยง ทางลัดที่เป็นจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ และบริเวณที่ก่อสร้างถนน พร้อมเพิ่ม ความระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนนเป็นพิเศษ
ด้าน นายปวิณ ชำนิประศาสน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กำชับให้จังหวัดบูรณาการตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง อาสาสมัคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่บริหารจัดการจราจร และอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชนตลอดเส้นทาง โดยเฉพาะจังหวัดที่มีเส้นทางหลักมุ่งสู่ภูมิภาคต่างๆ และมีการจราจรหนาแน่น ให้เร่งระบายรถ เปิดช่องทางพิเศษ ปิดจุดกลับรถ ปรับสัญญาณไฟจราจรให้สอดคล้องกับช่วงเวลาในการเดินทางของประชาชน
พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่สนธิกำลังสนับสนุนการปฏิบัติงานในจุดตรวจ จุดบริการ และด่านชุมชน โดยเฉพาะเส้นทางรอยต่อระหว่างจังหวัด เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการสร้างความปลอดภัยในการเดินทาง
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการ ศปถ. เปิดเผยว่า กำชับให้ศูนย์ปฏิบัติการฯ จังหวัด ตรวจสอบและประสานข้อมูลอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบสิทธิ์และความคุ้มครองการประกันภัย เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุโดยเร็ว
อย่างไรก็ตาม ในช่วงค่ำวันนี้ประชาชนจำนวนมากจะเดินทางออกสู่ต่างจังหวัด ซึ่งการขับรถในช่วงกลางคืนมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการง่วงแล้วขับ
ศปถ. จึงขอฝากเตือนผู้ใช้รถใช้ถนนพักผ่อนให้เพียงพอ ตรวจสอบสภาพรถ และเลือกใช้เส้นทางที่ปลอดภัย หากมีอาการง่วงนอนให้จอดพักรถพักคนในบริเวณที่ปลอดภัยหรือจุดบริการบนเส้นทางต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ กรณีพบเห็นหรือเกิดอุบัติเหตุทางถนน สามารถติดต่อแจ้งเหตุได้ทาง สายด่วนนิรภัย 1784 หรือ 1669 เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับยอดวันแรกการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” ในช่วง 7 วันอันตรายเมื่อปีก่อน เกิดอุบัติเหตุ 477 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 500 คน และเสียชีวิต 41 คน โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุดมาจาก “เมาแล้วขับ” ร้อยละ 42.77 รองลงมา คือ “ขับรถเร็วเกินกำหนด” ร้อยละ 26 โดยยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ รถจักรยานยนต์
หากเทียบกับช่วง 7 วันอันตรายในปีนี้ พบว่ายอดอุบัติเหตุสูงขึ้น 57 ครั้ง ผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้น 68 คน และผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมขึ้น 1 ราย
ข้อมูลข่าวจาก