วันที่ 8 กันยายน 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบดำเนินการนโยบายประกันรายได้ หรือโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีที่ 4 ซึ่งหลักเกณฑ์เหมือน 3 ปีที่ผ่านมาทุกประการ วงเงิน 86,740 ล้านบาท คาดว่าเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจะเข้าร่วมโครงการจำนวน 4.68 ล้านครอบครัว พร้อมเสนอ ครม.เห็นชอบ
กำหนดระยะเวลาการขึ้นทะเบียนสำหรับข้าวนาปี ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-31 ต.ค. 65 แต่ภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย. 65-28 ก.พ. 66 โดยจะมีการกำหนดราคาตลาดเพื่อกำหนดราคาทุก 7 วัน และจะจ่ายเงินส่วนต่าง (ถ้ามี) จำนวน 33 งวด งวดแรกเริ่มต้น 14 ต.ค. 65 งวดสุดท้ายวันที่ 26 พ.ค. 66 รวมไปถึงเห็นชอบมาตรการคู่ขนาน ซึ่งเป็นมาตรการที่จะนำมาใช้ในช่วงที่ข้าวประดังออกสู่ตลาดมาก
และจากผลกระทบให้ราคาข้าวในตลาดราคาตก มี 3 มาตรการประกอบด้วย 1) ให้เกษตรกรชะลอการขาย ตั้งเป้าหมาย 2.5 ล้านตัน จะช่วยชดเชยตันละ 1,500 บาท 2) สำหรับสถาบันเกษตรกรที่ชะลอขายข้าวจะช่วยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ตั้งเป้า 1 ล้านตัน 3) ช่วยโรงสีที่เก็บข้าวไว้ไม่ปล่อยออกสู่ตลาด จะช่วยดอกเบี้ยร้อยละ 3 เป้าหมาย 4 ล้านตัน รวมวงเงิน 7,107 ล้านบาท
นอกจากนี้ เห็นชอบให้ดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในเรื่องต้นทุนและการบริหารจัดการข้าว หรือที่เรียกว่าไร่ละ 1,000 รายละไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 20,000 บาท จำนวน 4.68 ล้านครอบครัว วงเงิน 55,364 ล้านบาท รวม 3 โครงการนี้เป็นวงเงินทั้งสิ้น 150,127 ล้านบาท
ที่ประชุมเห็นชอบให้ขยายเวลาในการแก้ปัญหาโครงการจำนำข้าวในอดีตที่ยังค้างคาอยู่ตั้งแต่ปีการผลิต 51/52 ถึง 65/67 ซึ่งโครงการจำนำข้าวที่ยังค้างคาอยู่มีทั้งหมด 7 โครงการ ที่ประชุมเห็นชอบให้ขยายเวลาในการแก้ปัญหาออกไปอีก 1 ปี เนื่องจากข้าวที่เป็นปัญหาจากการจำนำข้าวยังระบายไม่หมด เหลืออีก 218,000 ตันโดยประมาณ
และยังต้องเร่งรัดการดำเนินคดีต่อไป เพราะยังต้องดำเนินคดีทั้งหมด 1,524 คดี ซึ่งยังค้างอยู่บางส่วน จำเป็นต้องขยายเวลาออกไปเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทั้ง 2 ข้อคือ เร่งระบายข้าวและเร่งดำเนินคดีทั้งหมด 1,524 คดี จากโครงการจำนำข้าวให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งปี
ที่ประชุมเห็นชอบให้ขยายเวลาโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ออกไปอีก 1 ปี เพื่อส่งเสริมให้มีการปลูกข้าวอินทรีย์ที่มีคุณภาพต่อไป
“และสุดท้ายตนได้สั่งการให้ที่ประชุมดำเนินการ 1.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ข้าวไทยปี ’63-67 ที่เป็นความคืบหน้ารูปธรรมทุกครั้งที่มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นขบ.) ว่าสามารถลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ให้ชาวนาถึงไหน พันธ์ุข้าวที่เรากำหนดว่า 5 ปีจะเพิ่ม 12 พันธุ์ข้าวได้เพิ่มไปกี่พันธุ์แล้ว เพื่อเพิ่มความหลากหลายของพันธุ์ข้าวไทย ที่จะไปแข่งขันในตลาดโลกต่อไปได้อย่างมีศักยภาพ
และเรื่องการจัดประกวดพันธุ์ข้าว ซึ่งขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ หรือกรมการข้าวกับกระทรวงพาณิชย์ และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ร่วมมือกันจัดประกวดพันธุ์ข้าวเพื่อให้ได้พันธุ์ข้าวใหม่ มาจดทะเบียนรับรองพันธุ์ ปีที่แล้วดำเนินการได้ 6 พันธุ์ และปีนี้จะดำเนินการอีก และจะเสร็จสิ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ให้จับมือกันร่วมมือกันสนับสนุนให้บรรลุวัตถุประสงค์ ซึ่งหลังจากการประชุมวันนี้และจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป”
นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า นโยบายของท่านและทางรัฐบาลที่ได้มีโครงการประกันรายได้ 3 ปีที่ผ่านมา ปีนี้เป็นปีที่ 4 สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยได้ติดตามว่าโครงการนี้จะมีต่อไหม ได้คุยกับท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ วันนี้ประกาศออกมาแล้วหลังจากที่ประชุมกันชาวนาทั่วประเทศเห็นดีด้วยกับโครงการนี้เป็นโครงการที่อยากจะให้ยั่งยืนและยืนยาวต่อไป ต้องขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีจุรินทร์ที่ได้ทำโครงการดี ๆ ให้กับเกษตรกร
“ผมในฐานะตัวแทนชาวนาทั่วประเทศที่เป็นสมาคมชาวนา มีสมาชิกสมาคมชาวนาประมาณ 80,000 คน ขอขอบคุณท่านมา ณ ที่นี้ และผ่านสื่อมวลชนว่าเกษตรกรทุกคนมีความหวัง” นายปราโมทย์กล่าว
ข้อมูลจากกรมการค้าภายในระบุว่า โครงการประกันรายได้ข้าวปี 2565/2566 ประกันรายได้ข้าว 5 ชนิด ประกอบด้วย ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกัน 15,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกัน 14,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน ข้าวเปลือกปทุมธานี ราคาประกัน 11,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกัน 10,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกัน 12,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ