เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 นายสมชาย หาญหิรัญ ส.ว.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบ และส่งให้วุฒิสภาจะพิจารณาในวาระแรกวันที่ 1 พฤศจิกายน ว่าจากการศึกษาของ กมธ. พบว่าร่างกฎหมายดังกล่าวที่สภาเห็นชอบ มีข้อดีเป็นจำนวนมาก และเปิดโอกาสให้กรรมการ กยศ. ขยายสถานะของผู้มีสิทธิกู้ยืมเงิน ในการศึกษาระดับ ปวช. และ ปวส.ได้ อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้เพิ่มทักษะเพื่อรองรับตลาดฝีมือแรงงาน นอกจากนั้น ในการแก้ไขกฎหมายยังพบข้อดีที่เปิดช่องให้กรรมการ กยศ. ออกแบบแนวทางและวิธีการช่วยเหลือระยะสั้นกับผู้กู้ยืมเงินที่มีปัญหารายได้ไม่เพียงพอ หรือเรียนจบแต่ไม่มีงานทำ โดยให้รัฐเข้าไปช่วยเหลือ
นายสมชายกล่าวต่อว่า ในการพิจารณาของสภาที่เกี่ยวกับการไม่คิดดอกเบี้ย หรือไม่คิดค่าปรับนั้นจากการศึกษาของกมธ. และการจัดสัมมนา พบว่ามีความเห็นที่ตรงกันคือ เป็นห่วงว่าจะเกิดอันตรายทางศีลธรรม ไม่มีวินัย และสร้างภาระทางงบประมาณให้กับรัฐบาล ดังนั้น ผลการศึกษาของ กมธ. จึงเสนอให้คงดอกเบี้ยและค่าปรับไว้ แต่ในอัตราที่ต่ำเพื่อไม่ให้เป็นปัญหากับผู้กู้ที่จะใช้เงินคืนซึ่งประสบปัญหารายได้ต่ำ หรือยังไม่ได้ทำงาน
“สำหรับอัตราดอกเบี้ยหรือค่าปรับนั้น กมธ.ไม่ได้เสนอตัวเลขว่าจะมีอัตราเท่าใด เพื่อให้กมธ.วิสามัญที่จะตั้งขึ้นหลังจากนี้พิจารณาความเหมาะสม ทั้งนี้ผลการศึกษาของกมธ. พิจารณากองทุน กยศ.เป็นกองทุนที่ดีที่ให้โอกาสได้รับการศึกษา” นายสมชาย กล่าว
เมื่อถามถึง กระแสข่าวที่ว่า วุฒิสภาจะคว่ำร่าง พ.ร.บ.กยศ. ในวาระแรก นายสมชายกล่าวว่า การลงมตินั้นเป็นสิทธิและดุลพินิจของวุฒิสมาชิก ตามเหตุและผล สำหรับการอภิปรายในวันที่ 1 พฤศจิกายนก่อนรับหลักการนั้น เชื่อว่าจะมีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม การพิจารณาของ กมธ.นั้นไม่มีการชี้นำ และเชื่อว่าไม่มีการล็อบบี้ให้ลงมติอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ เมื่อวุฒิสภาลงมติวาระแรกแล้วต้องตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณา ตนเชื่อว่า กมธ. จะทำให้แล้วเสร็จได้ทันภายใน 30 วัน และทำให้กฎหมายมีความรอบคอบ รอบด้าน
ที่มาข่าว : มติชนออนไลน์