เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการประชุมเรื่องการปรับเพิ่มค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุขทุกวิชาชีพ ซึ่งเป็นไปตามที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดสธ. เสนอเรื่องมา ซึ่งตนสอบถามว่า ต้องของบประมาณกลางหรือไม่ อย่างไร ซึ่งท่านปลัดสธ.บอกว่าไม่ต้อง เพราะเป็นงบบริหารจัดการในกระทรวงฯ อย่างเงินบำรุง ดังนั้น ตนจึงบอกว่า ลุยได้เต็มสูบ เพราะนี่เป็นประโยชน์ เงินบำรุงที่มีไว้ต้องเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่โชว์ยอดในบัญชีธนาคารเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า การเพิ่มค่าตอบแทนเป็นของขวัญปีใหม่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่ใช่ของขวัญปีใหม่ แต่นี่คือการตอบแทนความทุ่มเทเสียสละของบุคลากร เราไม่ต้องไปบอกว่านี่เป็นของขวัญ ตราบใดที่ถึงเวลาอันควร และองค์กร หรือหน่วยงานคือกระทรวงสาธารณสุขสามารถบริหารงบประมาณได้ โดยไม่มีผลกระทบการทำงานหรือประสิทธิภาพประชาชน นี่คือขวัญกำลังใจของบุคลากรที่มีตั้ง 3-4 แสนคนของกระทรวง
ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบนโยบายว่าหากอยู่ในงบประมาณที่ดำเนินการได้ให้เร่งดำเนินการและต้องดูแลทุกวิชาชีพ ซึ่งวันนี้ได้รับมอบหมายจาก นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นประธาน การประชุมคณะกรรมการค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 1/2565 ซึ่งมีวาระการพิจารณาข้อเสนอการปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าตอบแทนฯ ฉบับที่ 5 ซึ่งเป็นการปรับค่าตอบแทนและเงินเพิ่มเติมพิเศษของบุคลากรที่ทำงานในโรงพยาบาล สถานีอนามัย และหน่วยบริการสาธารณสุขทุกวิชาชีพ เนื่องจากค่าตอบแทนส่วนนี้ไม่ได้มีการปรับปรุงตั้งแต่ ปี 2552 ในขณะที่สภาพเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การพิจารณาได้คำนึงถึงสถานการณ์การเงินการคลังและรายรับรายจ่ายของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับข้อเสนอแนวทางการเพิ่มค่าตอบแทน และการคาดการณ์สถานการณ์หลังเพิ่มค่าตอบแทน ซึ่งจากข้อมูลพบว่ารายได้ของหน่วยบริการกระทรวงสาธารณสุขส่วนใหญ่มาจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยข้อมูลปี 2560 – 2565 พบมีรายรับภาพรวมเฉลี่ยสูงกว่ารายจ่าย ส่วนข้อเสนอปรับค่าตอบแทนหลักการคือ ปรับอัตราค่าตอบแทนการปฏิบัติงานลักษณะเป็นเวรหรือเป็นผลัด (OT) ขึ้นร้อยละ 8 และปรับค่าตอบแทนเฉพาะผลัดบ่ายหรือผลัดดึกที่เสมือนเป็นการปฏิบัติราชการในเวลาราชการปกติ ขึ้นร้อยละ 50 โดยมีข้อเสนอปรับค่าตอบแทนแต่ละวิชาชีพ ดังนี้
แพทย์ ทันตแพทย์ จากเดิม 1,100 บาท เป็น 1,200 บาทต่อผลัด, เภสัชกร จากเดิม 720 บาท เป็น 780 บาทต่อผลัด, นักวิทยาศาสตร์ พยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการทางด้านสาธารณสุข จาก 600 บาทเป็น 650 บาทต่อผลัด โดยพยาบาลผลัดบ่าย/ผลัดดึกที่จากเดิมได้รับเพิ่ม 240 บาทก็ปรับเพิ่มเป็น 360 บาทต่อผลัด, พยาบาลเทคนิค เจ้าพนักงานสาธารณสุข เจ้าพนักงานเทคนิค จากเดิม 480 บาท เป็น 520 บาทต่อผลัด โดยพยาบาลเทคนิคผลัดบ่าย/ผลัดดึก จากเดิมได้รับเพิ่ม 180 บาทปรับเพิ่มเป็น 270 บาทต่อผลัด , เจ้าหน้าที่พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเจ้าหน้าที่เทคนิค จากเดิม 360 บาท เป็น 390 บาทต่อผลัด โดยเจ้าหน้าที่พยาบาลผลัดบ่าย/ผลัดดึกจากเดิมได้รับเพิ่ม 145 บาทปรับเพิ่มเป็น 255 บาทต่อผลัด, เจ้าหน้าที่อื่นๆ ตามวุฒิ จากเดิม 360-600 บาท เป็น 650 บาท และลูกจ้างตำแหน่งอื่นๆ จากเดิม 300 บาท เป็น 330 บาท ส่วนบุคลากรที่ไม่เข้าเกณฑ์ค่าตอบแทนฉบับนี้ จะมีการพิจารณาเพิ่มเติมให้ครอบคลุมต่อไป
“การเพิ่มค่าตอบแทนบุคลากรดังกล่าว เมื่อพิจารณาจากสถานะการเงินการคลังยังพอมีเงินรองรับในส่วนนี้ได้ ไม่กระทบการให้บริการ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขจึงเร่งรัดดำเนินการเรื่องการเพิ่มค่าตอบแทน ซึ่งเป็นการเพิ่มขวัญกำลังใจบุคลากรในการทำงานให้บริการประชาชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลังจากคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนฯ มีมติเห็นชอบแล้ว จะส่งคณะกรรมการฯ ว่าด้วยเงินบำรุงของหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขฯ พิจารณา ก่อนทำความตกลงกับกระทรวงการคลัง เพื่อออกประกาศและดำเนินการให้กับบุคลากรต่อไป” นพ.ทวีศิลป์กล่าว
ที่มาข่าวจาก : มติชนออนไลน์