วันที่ 14 ธันวาคม 2565 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จะต้องเข้าไปเร่งรัดการชำระหนี้ของลูกหนี้กว่า 2 ล้านราย ที่มีการผิดนัดชำระหนี้ จากปัจจุบันที่ กยศ. มีลูกหนี้ที่มีสถานะอยู่ระหว่างการชำระหนี้ทั้งสิ้น 3.5 ล้านราย จากภาพรวมผู้กู้ยืมทั้งสิ้น 6.4 ล้านราย (ณ 30 ก.ย.2565)
“ลูกหนี้ 3.5 ล้านรายอยู่ระหว่างชำระหนี้ เกือบครึ่งหนึ่งมีวินัย ชำระหนี้ปกติ ซึ่งต้องชื่นชม เพราะกลุ่มนี้คือ เห็นความสำคัญ จะช่วยให้กองทุนอยู่ได้ยั่งยืนในระยะยาว เพื่อสร้างโอกาสให้รุ่นน้อง แต่ขณะเดียวกัน อีกกว่า 2 ล้านราย ก็เริ่มมีการผิดนัดชำระหนี้” นายดนุชากล่าว
ทั้งนี้ มีปัญหาหลายสาเหตุ ได้แก่ 1.ปัญหาจากตัวลูกหนี้ ได้แก่ พฤติกรรมนของตัวลูกหนี้ที่ขาดวินัยทางการเงิน โดยเฉพาะมีบางกลุ่มที่มีความสามารถในการชำระแต่ไม่ชำระ กลุ่มนี้คงต้องเร่งรัดให้ชำระ ซึ่งจากข้อมูลสืบทรัพย์ลูกหนี้ กยศ. ที่มีการบังคับคดีปี 2563 พบว่า 40 ราย มีเงินฝากมากกว่า 5 ล้านบาท ขณะที่อีก 431 ราย ก็มีเงินฝากตั้งแต่ 1-5 ล้านบาท และอีก 637 ราย มีเงินฝากตั้งแต่ 5 แสนบาท ถึง 1 ล้านบาท ทั้งหมดนี้หากจะชำระหนี้ก็สามารถทำได้อย่างไม่ลำบาก ดังนั้น กลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่ต้องเร่งรัดให้มีการชำระหนี้
รวมถึงกลุ่มที่ประสบปัญหา หรือวิกฤตต่าง ๆ เช่น ตกงาน ปัญหาเศรษฐกิจ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มนี้น่าจะเป็นกลุ่มใหญ่ และคงต้องเข้าไปดูเป็นรายบุคคล
2.ปัญหาจากกลไกการชำระหนี้ของ กยศ. ก็เป็นปัญหาหนึ่ง เพราะการชำระหนี้เป็นขั้นบันได ซึ่งจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าลุกหนี้มีปัญหาบางช่วงเวลา หรือเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ทำงานประจำ พอเริ่มมีการขยับบันไดขึ้น และอาจจะประสบปัญหาในช่วงนั้น ๆ ก็อาจจะมีการผิดนัด โดยเฉลี่ยจะเกิดปัญหาในปีที่ 6-7 ของการชำระหนี้
3.ปัญหาการดำเนินงานของกองทุนเอง เรื่องการไกล่เกลี่ย ปรับโครงสร้างหนี้ ติดกฎระเบียบ และทัศนคติของเจ้าหน้าที่ด้วยที่อาจจะไม่ได้ปรับแนวทางการชำระให้เหมาะกับรายได้ของผู้กู้
4.ปัญหาเชิงโครงสร้างของการศึกษา โดยผู้ที่จบการศึกษา ที่มีหลายสาขา ซึ่งแต่ละสาขาเงินเดือนไม่เท่ากัน รูปแบบการชำระจึงควรมีความเหมาะสมกับวุฒิการศึกษาและรายได้ แทนที่จะมีรูปแบบเดียว
“แน่นอนว่า คนจนวิศวะ วิทยาศาสตร์ สถาปัตย์ เงินเดือนจะมากกว่า คนที่จบบริหาร หรือสังคมศาสตร์ ซึ่งหากสามารถปรับรูปแบบการชำระให้แมตซ์กับวุฒิการศึกษา หรือว่ารายได้ หรือรูปแบบอาชีพของเขาได้ ก็น่าจะช่วยให้การชำระหนี้เดินหน้าได้” นายดนุชากล่าว
เลขาธิการ สศช. กล่าวด้วยว่า ช่วงที่ผ่านมา มีแนวคิดที่จะออกนโยบายให้พักชำระหนี้ หรือผิดนัดไม่ต้องจ่าย หรือไม่ต้องคิดอกเบี้ย ซึ่งต้องบอกว่า กองทุน กยศ. เป็นกองทุนสำคัญ ที่จะเป็นการสร้างโอกาสให้คนรุ่นถัดไป โดยเฉพาะผู้ที่ฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดีนัก
“การทำลักษณะที่วา จะทำให้เกิด moral hazard กองทุนก็จะอยู่ไม่ได้ ดังนั้นแนวทางที่จะต้องทำ คือ นำลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ และดูรายได้ดูอาชีพ ดูสถานะว่ามีกำลังพอชำระแบบไหนอาจจะต้อง customize ให้เหมาะกับแต่ละคน ขณะเดียวกันก็ต้องให้ความรู้ทางการเงิน เพื่อสร้างวินัย” เลขาธิการ สศช.กล่าว
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ