โฆษก ศบค. เตือนการเดินทางข้ามจังหวัด ขอประชาชนปฏิบัติตามประกาศควบคุมโรคของจังหวัด ขอให้ออกนอกบ้านให้น้อยที่สุด สวมใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรค
วันนี้ (1 พ.ค. 63) เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ตอบคำถามสื่อมวลชนผ่านโซเซียลมีเดียช่วงการแถลงข่าวของศูนย์ข่าวโควิด-19 และสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
โฆษก ศบค. ชี้แจงกรณีคู่มือมาตรฐานกลางในการผ่อนปรนมาตรการ เพื่อผู้ประกอบการจะได้เตรียมตัวสำหรับการเปิดให้บริการนั้น อยู่ระหว่างพิจารณาข้อกำหนดมาตรฐาน โดยจะประกาศเร็ว ๆ นี้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยังต้องยึดหลักการสำคัญ กรณีกิจการ/กิจกรรม ในกลุ่มสีขาวที่จะมีการผ่อนปรนในวันที่ 3 พ.ค. 63 นี้ หลักการแรก คือ ต้องเป็นพื้นที่เปิด หากเป็นพื้นที่ปิดต้องสร้างการถ่ายเทของอากาศ เช่น ร้านอาหารที่มีเครื่องปรับอากาศ หลักการที่สอง คือ ความหนาแน่นในการทำกิจกรรม หรือพื้นที่ของการให้บริการ เน้นการเว้นระยะห่างของผู้เข้าใช้บริการ ขั้นต่ำคือ 1.5 เมตร หลักการที่สาม คือ กิจการ/กิจกรรม ที่มีลักษณะจำเป็นต้องใกล้ชิดกัน เช่น ร้านตัดผม ขอให้ใช้ระยะเวลาในการบริการให้น้อยที่สุด ได้แค่ตัดผม สระผม ไดร์ผม โดยผู้ให้บริการต้องคำนึงถึงการป้องกันตัวเองไม่ให้รับการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 จากผู้เข้าใช้บริการ ขณะที่ผู้ใช้บริการเองก็ต้องป้องกันตัวเองเช่นกัน รวมทั้งภาครัฐต้องมีความเข้มข้นในการตรวจสอบข้อปฏิบัติ
โฆษก ศบค. ยังย้ำการปฏิบัติตนของประชาชนในช่วงวันที่ 1 – 2 พ.ค. 63 ก่อนให้ผ่อนปรนมาตรการว่า การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 4) ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 63 โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เน้นความสำคัญ “ให้บรรดาประกาศหรือคําสั่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ผู้มีอํานาจตามกฎหมายว่าด้วย การเดินอากาศและกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ที่ได้ประกาศหรือสั่งไว้ก่อนวันที่ข้อกําหนดนี้ใช้บังคับ ไม่ว่าจะเป็นการห้าม การให้กระทําการ หรือการผ่อนคลายใด ๆ ซึ่งถือว่าเป็นประกาศหรือสั่ง ตามข้อกําหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปเช่นเดิม จนกว่าจะได้มีข้อกําหนด ประกาศ หรือ คําสั่งเป็นอย่างอื่น จึงสรุปได้ว่าตอนนี้ยังให้คงการใช้ กฎหมาย คำสั่ง เดิมที่มีอยู่ จนกว่าจะมีการแถลงการณ์มาตรการผ่อนปรนในวันที่ 3 พ.ค. 63
โฆษก ศบค. ยังชี้แจงด้วยความเป็นห่วงกรณีพบประชาชนเดินทางในช่วงวันหยุดยาวเป็นจำนวนมากว่า การเคลื่อนย้ายคน คือ เงื่อนไขสำคัญของการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากเป็นแหล่งของโรค ฉะนั้นการเดินทางเป็นเรื่องที่สำคัญมาก จึงขอความร่วมมือผู้ที่เดินทางไปแล้ว พยายามออกนอกบ้านให้น้อยที่สุด งดการพบปะสังสรรค์ สวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องอยู่กับคนจำนวนมาก พร้อมทั้งให้ความร่วมมือปฏิบัติตามประกาศของพื้นที่จังหวัดนั้นๆ อย่างเคร่งครัด สำหรับประชาชนที่เดินทางข้ามจังหวัดไม่จำเป็นต้องมีใบรับรองแพทย์ เพียงแต่ให้ปฏิบัติตามกติกาที่แต่ละจังหวัดได้มีการประกาศออกมาเป็นพื้นฐาน ทั้งการให้ความร่วมมือสวมใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคต่อไป
โฆษก ศบค. ชี้แจงประเด็นคำถามถึงการกำหนดจำนวนผู้โดยสารสำหรับรถส่วนบุคคลว่า ยังไม่มีข้อกำหนด แต่ผู้ที่ต้องเดินทางโดยรถส่วนบุคคล ขอให้ป้องกันตนเองตามกติกาที่ได้มีการกำหนดออกมาในเบื้องต้น คือ การสวมใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ไม่ให้เกิดความแออัดจนเกินไป
โฆษก ศบค. กล่าวในฐานะของจิตแพทย์มองว่า การเสียชีวิตทุกเรื่องมีความสำคัญทั้งสิ้น ซึ่งจะต้องนำมาเรียนรู้เพื่อหาวิธีการช่วยเหลือ ค้นหาสัญญาณนำป้องกันการฆ่าตัวตายทั้งที่เกี่ยวข้องกับโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งเป็นภารกิจที่จิตแพทย์ทุกคนต้องพยายามหาหนทางช่วยเหลือ และในฐานะโฆษก ศบค. พร้อมที่จะรับฟังทุกเรื่องและนำมาสู่กระบวนการของการช่วยเหลือเยียวยาแก้ไข และหาวิธีช่วยเหลือ รวมถึงกระบวนการดูแลด้านสุขภาพจิต โดยจะมีทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจหรือทีมเอ็มแคทที่มีอยู่ทั่วประเทศจะเข้าไปพูดคุย เชื่อว่าการช่วยเหลือเยียวยาจะเป็นหนทางที่ทำให้ทุกคนได้บรรเทาทุกข์และนำมาสู่กระบวนการจัดการในภาพกว้างขึ้น