พลตำรวจเอกศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมพลตำรวจโทจารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะประธานและรองประธาน คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่แย้งความเห็น สั่งไม่ฟ้องเด็ดขาดคดี “บอส อยู่วิทยา” เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการว่า ความเห็นไม่แย้ง คำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาดของอัยการในคดีนี้ ถือว่าคดีนี้สิ้นสุด ไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงความเห็นได้อีก
พร้อมยืนยัน ว่า การพิจารณาความเห็นทางคดีที่อัยการส่งมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะพิจารณาเฉพาะความถูกต้องในข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริงของคดี หากสงสัยในความเห็นของอัยการก็ไม่มีอำนาจที่จะขอตรวจสอบ หรือขอให้อัยการอธิบายเหตุผลของการสั่งคดีได้ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ จะทำหน้าที่สืบหาข้อเท็จจริงว่า การใช้ดุลพินิจของพลตำรวจโทเพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะสั่งให้รื้อฟื้น หรือสอบสวนเพิ่มเติม เพราะคดีนี้ ได้ผ่านชั้นสอบสวนของตำรวจมานานแล้ว
ส่วนพยานใหม่ 2 ปากที่สังคมสงสัย ว่ามาจากไหนนั้น พลตำรวจโทจารุวัฒน์ กล่าวว่า พนักงานสอบสวนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพยานใหม่ 2 ปากนี้ โดยระบุว่า อัยการเป็นฝ่ายนำพยาน 2 ปากนี้เข้ามาในคดี และมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนสอบปากคำเพิ่ม ตามประเด็นที่อัยการกำหนด เท่าที่ทราบเป็นพยานที่มาหลังผู้ต้องหายื่นร้องขอความเป็นธรรมกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
พนักงานสอบสวนจึงทำตามขั้นตอนที่อัยการกำหนดเท่านั้น การมีความเห็นทางคดี ก็ไม่สามารถก้าวล่วงกับการพยานได้ทั้งนี้ ที่ผ่านมาคดีร้อยละ 97 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความเห็นไม่แย้ง มีเพียงร้อยละ 3 ที่เห็นแย้ง และหลักการสั่งคดีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มอบหมายให้รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รับผิดชอบในการใช้ดุลพินิจ ทำความเห็นแย้งหรือไม่แย้ง โดยอิงตามเขตอำนาจของพนักงานอัยการ
ต่อข้อถามว่าคณะกรรมการชุดนี้ อาจถูกมองเป็นเพียงการฟอกขาว ให้การใช้ดุลพินิจไม่แย้งคดีของ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า คณะกรรมการชุดนี้ ไม่ได้มาทำหน้าที่ฟอกขาวให้ใคร แต่จะทำข้อเท็จจริงให้ปรากฎต่อสาธารณชน และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ขอให้สังคมเข้าใจ และหลังจากนี้จะชี้แจงทุกขั้นตอน ที่ดำเนินการตรวจสอบและแสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อความโปร่งใส และแถลงข่าวให้ทราบเป็นระยะ
ทั้งนี้ คณะกรรมการจะพิจารณาใน 3 แนวทาง คือ
1.การสอบสวนและความเห็นชั้นพนักงานสอบสวน
2.การสอบสวนเพิ่มเติมตามความเห็นของอัยการ
3.การตรวจสอบการใช้ดุลพินิจไม่แย้งสำนวน ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พร้อมระบุว่า ผลการตรวจสอบของคณะกรรมการฯ จะไม่มีผลต่อคดีความ เพราะคดีสิ้นสุดแล้ว หลังตำรวจมีความเห็นฟ้องและจะไม่เกี่ยวข้องกับผลการตรวจสอบของอัยการสูงสุด แต่หากพบว่ามีการใช้ดุพินิจไม่ชอบ ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาความผิดทางวินัยและอาญาต่อไป
They used 3 pickups to deliver the brown envelopes, one to each one of them…..thai justice if you have money