นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม สั่งการให้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ และสำนักงบประมาณ ออกมาตรการเยียวยาประชาชนประมาณ 40 ล้านคน ที่ได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในช่วง 2 เดือน
ทั้งนี้ จะมีการหารือกันในรายละเอียดในที่ประชุมศูนย์บริหารเศรษฐกิจโควิด-19 หรือ ศบศ.กันอีกครั้ง ส่วนตัวเลขเยียวยา 40 ล้านคนมีที่มาอย่างไรนั้น จะนำตัวเลขมาจากจำนวนประชาชนที่ได้รับมาตรการสวัสดิการแห่งรัฐอยู่ในขณะนี้
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างหารือแนวทางดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ร่วมกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ซึ่งจะมีแนวทางเยียวยาอีกครั้งสำหรับกลุ่มต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบ 2
รวมทั้งเตรียมสินเชื่อให้ระยะยาวขึ้น และมาตรการรักษาการจ้างงาน เป็นต้น โดยในหลักการกระทรวงการคลังได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และได้รับการอนุมัติแล้ว แต่ในรายละเอียดกระทรวงการคลังต้องกลับมาสรุปอีกครั้ง เพื่อความชัดเจนและเสนอให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบในสัปดาห์หน้าต่อไป
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า มาตรการที่กระทรวงการคลังเสนอให้รัฐบาลจ่ายเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบรอบใหม่ เหมือนกับโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ที่ดำเนินการไปครั้งก่อน เนื่องจากปัจจุบันยังมีวงเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท) เหลืออยู่ราว 2 แสนล้านบาท
“อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ต้องเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจ ว่าจะทำหรือไม่ หากจ่ายจะจ่ายเท่าไหร่ รวมถึงเป็นระยะเวลาเท่าใด ทั้งนี้แม้ว่าจะมีเงินอยู่ก็จริง แต่เนื่องจากปัญหายังไม่สิ้นสุด ยังไม่รู้ว่าจะมีการขยายวงแค่ไหน ถ้าจ่าย 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือนเหมือนครั้งก่อนอาจจะไม่พอ แต่ถ้าจ่ายก็ไม่น่าเกิน 4,000 บาท ระยะเวลา 2 เดือน” แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับมาตรการเยียวยาครั้งนี้จะมีความยาก เนื่องจากเป็นการแบ่งโซนประกาศพื้นที่ระบาด คลังจึงเสนอแนวทางให้จ่ายเงินเยียวยาเป็นตามพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากประกาศของรัฐบาล แบ่งเป็นพื้นที่สีแดง สีส้ม สีเหลือง โดยแต่ละสีอาจได้รับเงินเยียวยาไม่เท่ากัน ซึ่งยอมรับว่ามีความยากในการดำเนินการหลายด้าน ซึ่งต้องขอความร่วมมือกระทรวงมหาดไทยให้หน่วยงานท้องถิ่นช่วยตรวจสอบเช็กลิสต์ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบเพื่อรับเงินเยียวยา
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพื้นที่สีแดงยังเพิ่มต่อเนื่อง ทำให้การตัดสินใจใช้มาตรการต่าง ๆ ค่อนข้างยาก
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ