เปิดเบื้องหลังกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ฯ “คนละครึ่ง” ได้สิทธิ์ ลงทะเบียน “เราชนะ” รับเงินสูงสุดรวม 10,500 บาท/ราย สุดท้ายคลังไม่ขัดข้อง ชี้วัตถุประสงค์สองโครงการไม่เหมือนกัน ให้สองโครงการถือว่าไม่รอนสิทธิ์ประชาชน
โครงการ “เราชนะ”ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ให้ความเห็นชอบไปแล้วเมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมาครอบคลุมกลุ่มประชากร 31.1 ล้านคนซึ่งจะเริ่มทยอยให้เงินเป็นรายสัปดาห์แก่ประชาชนผู้ได้รับสิทธิ์ 3,500 บาทเป็นระยะเวลา 2 เดือนรวม 7,000 บาทตั้งแต่เดือน ก.พ.นี้
ผู้ได้รับสิทธิ์ในโครงการแบ่งเป็น 3 กลุ่ม แบ่งเป็น
1.กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.7 ล้านราย จะได้รับวงเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมจากเงินที่เติมให้ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อเติมให้ครบ 7,000 บาทภายในระยะเวลา 2 เดือน (เดือนละ 3,500 บาท) โดยกลุ่มที่ได้รับเงิน 800 บาทต่อเดือนจะได้วงเงินช่วยเหลือเพิ่มอีก 675 บาท/สัปดาห์หรือ 2,700 บาท/คน/เดือน รวมวงเงินต่อคนตลอดระยะโครงการฯ จำนวน 5,400 บาท
ส่วนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่รับเงินอยู่แล้ว 700 บาท/เดือนจะได้วงเงินช่วยเหลือเพิ่มอีกคนละ 700 บาท/สัปดาห์ หรือ 2,800 บาท/คน/เดือน รวมวงเงินต่อคนตลอดระยะโครงการฯ จำนวน 5,600 บาทโดยจะเริ่มจ่ายเงินในสัปดาห์แรกในวันศุกร์ที่ 5 ก.พ.และจากนั้นจะจ่ายให้ในวันศุกร์ทุกสัปดาห์จนกว่าจะครบจำนวนเงิน
2.กลุ่มผู้ที่มีแอปพลิเคชัน“เป๋าตัง” จากฐานข้อมูลคนละครึ่งและเราเที่ยวด้วยกันซึ่งมีอยู่ประมาณ 14 ล้านคน โดยผู้ที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดจะได้รับวงเงินช่วยเหลือผ่านระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ (g-Wallet)แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เป็นรายสัปดาห์ จำนวน 1,000 บาทต่อสัปดาห์ วงเงินต่อคนตลอดระยะโครงการ (หรือจนถึงสิ้นเดือนพ.ค.2564)จำนวน 7,000 บาท ทั้งนี้ กลุ่มผู้ที่มีแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง”ฯ สามารถเข้าตรวจสอบสิทธิ์ผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ได้ตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.2564 และจะเริ่มได้รับวงเงินช่วยเหลือทุก ๆ วันพฤหัสบดีของแต่ละสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ.2564 เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะครบวงเงิน
และ 3.กลุ่มที่ยังไม่มีฐานข้อมูลอยู่กับภาครัฐ ประมาณ 4 ล้านคน กลุ่มนี้สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ได้ตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค.- 12 ก.พ.2564 ในช่วงเวลา 06.00 – 23.00 น โดยกลุ่มนี้จะเริ่มได้รับเงิน เป็นรายสัปดาห์ จำนวน 1,000 บาทต่อสัปดาห์ วงเงินต่อคนตลอดระยะโครงการ (หรือจนถึงสิ้นเดือนพ.ค.2564)จำนวน 7,000 บาทและจะเริ่มได้รับวงเงินช่วยเหลือทุก ๆ วันพฤหัสบดีของแต่ละสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ.2564 เช่นเดียวกับกลุ่มที่ 2 โดยกลุ่มนี้จะเปิดให้ลงทะเบียน 29 ม.ค.-12 ก.พ.2564
เมื่อพิจารณาจากคุณสมบัติที่เป็นผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 300,000 บาทต่อปี และผู้ที่ไม่มีเงินในบัญชีเงินฝากทุกบัญชีเกิน 500,000 บาท จะทำให้คนบางกลุ่มที่ลงทะเบียนรับสิทธิ์คนละครึ่งได้รับสิทธิ์ซื้อสินค้าและบริการโดยรัฐสมทบให้วันละไม่เกิน 150 บาท รวมวงเงิน 3,500 บาทโดยลงทะเบียนไปก่อนหน้านี้มีสิทธิ์ที่จะได้รับสิทธิ์ในโครงการ “เราชนะ” ได้อีก 7,000 บาท รวมเป็นเงินที่ได้รับสูงสุดจากภาครัฐทั้งสองโครงการคือคนละครึ่งและโครงการเราชนะรวมเป็นเงิน 10,500 บาท
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- บิ๊กตู่ สั่งแจกเงินช่วยข้าราชการ พนง.รัฐวิสาหกิจ ลูกจ้างรัฐ เหมือน ‘เราชนะ’
- มาตรการเยียวยาโควิด-19 ระลอกใหม่ จาก ธ.ก.ส.
- ประกันรายได้ข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 (งวดที่ 11)
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่าในเรื่องนี้ในการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ที่มีเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธานเมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมาหน่วยงานเศรษฐกิขได้มีการถกเถียงกันในประเด็นที่ว่าผู้ที่ได้รับสิทธิ์โครงการคนละครึ่งไปแล้วสมควรที่จะไดรับสิทธิ์ในโครงการ “เราชนะ” ด้วยหรือไม่
โดยกรรมการฯได้มีการตั้งข้อสังเกตว่าการคัดกรองกลุ่มเป้าหมายประชาชนที่ได้รับความช่วยเหลือ เยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ภายใต้โครงการเราชนะ เป็นการพิจารณาคุณสมบัติจากคนที่ไม่ตรงตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ (Negative List)ซึ่งมีจำนวนประมาณ 31.1 ล้านคน ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนจากโครงการเราชนะสามารถเข้าถึงมาตรการของภาครัฐได้อย่างทั่วถึง จึงเห็นว่าคณะกรรมการฯอาจมีข้อสังเกตเกี่ยวกับเงื่อนไขของผู้ที่ได้รับสิทธิ์เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งรอบตกหล่น เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการเราชนะแล้วสามารถเข้าร่วมโครงการฯรอบตกหล่นได้อีก เนื่องจากอาจจะถือว่าได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐที่ซ้ำซ้อนกัน
อย่างไรก็ตามการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวอาจเข้าข่ายว่าเป็นการรอนสิทธิ์ของประชาชนได้ เนื่องจากที่ผ่านมาการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งและโครงการช็อปดีมีคืนเป็นโครงการที่ชัดเจนด้วยระบบภาษี ซึ่งแตกต่างจากโครงการเราชนะที่เป็นการคัดกรองจาก Negative List ทำให้ประชาชนบางกลุ่มจะสามารถเข้าร่วมทั้งสองโครงการได้
ประกอบกับวัตถุประสงค์ทั้งสองโครงการมีความแตกต่างกัน กล่าวคือโครงการเราชนะมีวัตถุประสงค์ช่วยเหลือ เยียวยาประชาชน ในขณะที่โครงการคนละครึ่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้้เกิดการฟื้นฟูเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนในลักษณะรัฐและประชาชนร่วมจ่าย (Co-pay)
นอกจากนี้การกำหนดเงื่อนไขดังกล่วจะมีผลกระทบต่อผู้เข้าร่วมโครงการฯ ระยะที่ 1และระยะที่2 ซึ่งในขณะที่ประชาชนตัดสินใจเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ก็ไม่ได้มีการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว ภายหลังมีการกำหนดเงื่อนขเพิ่มเติมอาจจะมีผลกระทบทั้งในเรื่องสิทธิ์และอำนาจในการตัดสินใจของประชาชน ซึ่งจะอธิบายชี้แจงต่อประชาชนได้ยาก
ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงมาตรการต่าง ๆของภาครัฐได้อย่างครอบคลุม จึงขอให้ สศค. พิจารณากำหนดเงื่อนไขที่จะให้สิทธิ์แก่ผู้ที่ไม่เคยลงทะเบียนโครงการๆก่อนเป็นลำดับแรก และหากยังมีสิทธิ์คงเหลือจึงค่อยจัดสรรสิทธิ์ให้แก่ผู้ที่เคยลงทะเบียนแล้วแต่ถูกตัดสิทธิ์เป็นลำดับถัดไป แต่ในเบื้องต้นช่วงที่มีการกำหนดมาตรการนี้ให้คนที่ลงทะเบียนรับสิทธิ์คนละครึ่งไปแล้วแต่มีสิทธิ์จะได้รับสิทธิ์เราชนะด้วยสามารถที่จะลงทะเบียนได้โดยไม่เสียสิทธิ์แต่อย่างไร
ข้อมูลข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ