อาคม เผย นายกฯ สั่งเก็บตก “เยียวยา” เพิ่ม “ผู้ประกันตน” ม.33 ลูกจ้างหน่วยงานรัฐ เน้นกลุ่มรายได้น้อยลูกจ้างรายวัน รายได้ต่ำกว่าปีละ 1 แสนบาท
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงการคลังพิจารณาช่วยเหลือผู้อยู่นอกความช่วยเหลือของรัฐบาล โดยเกณฑ์การช่วยเหลือต้องเป็นผู้ที่มีรายได้น้อย ซึ่งกำลังพิจารณาว่าจะใช้เกณฑ์รายได้เท่าไหร่ เช่น อาจจะต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อปี
ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลมีมาตรการบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 โดยช่วยเหลือเยียวยาคนกลุ่มประกอบอาชีพอิสระ หรือ อยู่นอกระบบแรงงาน ซึ่งกลุ่มแรกได้รับความช่วยเหลือแบบไม่ต้องลงทะเบียน คือ
กลุ่มที่ 1 ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14 ล้านคน
กลุ่มที่ 2 ผู้ลงทะเบียนโครงการคนละครึ่ง 15 ล้านคน และกลุ่มคนที่ลงทะเบียนเราเที่ยวด้วยกัน
และจะเพิ่มกลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่อยู่นอกเหนือจากจากกลุ่มที่ 1-2 ซึ่งหมายถึงการครอบคลุมคนทุกคนในประเทศ
สำหรับการจะให้สิทธิประโยชน์แก่คนในกลุ่มที่ 3 ต้องมีระบบการคัดกรอง เช่น กรณีเป็นลูกจ้างของรัฐ จะต้องไม่เป็นผู้ที่อยู่ในบัญชีของ ก.พ. (ซึ่งหมายถึงข้าราชการประจำ) หรือกรณีที่เป็นพนักงานในบริษัทเอกชน และเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จะต้องเป็นบุคคลที่มีรายได้ต่ำ เช่น ลูกจ้างรายวัน วันละ 300-350 บาท
“ยกตัวอย่างลูกจ้างรายวันหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งจะมีรายได้น้อยและมีความเสี่ยงกรณีงบประมาณไม่พอจัดจ้างในปีต่อไป เป็นต้น กลุ่มเหล่านี้จะต้องดูแล”
รวมทั้งที่ผ่านมารัฐบาลเน้นให้ความช่วยเหลือแรงงานนอกระบบและอาชีพอิสระ และจะมีโครงการ “เราชนะ” ส่วนโครงการคนละครึ่งนอกจากเป็นเรื่องการบรรเทาผลกระทบให้ประชาชนทั่วไปแล้วยังช่วยผู้ประกอบการร้านค้าขนาดเล็กและหาบแร่แผงลอยที่ไม่ใช่นิติบุคคล และได้ขยายไปถึงผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะ เช่น รถแท็กซี่ ตุ๊กตุ๊ก วินจักรยานยนต์รับจ้าง ระบบรถไฟฟ้า และรถไฟระหว่างเมือง
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า ที่ผ่านมาสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ได้รายงาน ครม.รับทราบแนวทางและความจำเป็นในการปรับแผนการใช้เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ทั้งนี้ ต้องพิจารณาจากวงเงินคงเหลือภายหลังจากได้มีการโยกเงินจากส่วนนี้ไปใช้ในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่แล้ว 1 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ต้องพิจารณาโครงการที่ใช้เงินในส่วนนี้ให้สอดคล้องกับระยะเวลาที่กำหนดให้ผูกพันในสัญญาโครงการที่เกี่ยวข้องที่จะใช้เงินในส่วนนี้ให้ทันภายในวันที่ 30 ก.ย.นี้
แหล่งข่าว กล่าวว่า ที่ผ่านมา ครม.เห็นชอบในหลักการให้ สศช.ทำกรอบแนวคิิดการจัดทำแผนงานหรือโครงการภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมรอบใหม่เพื่อเสนอ ครม.อีกครั้งพร้อมส่งข้อเสนอแผนงานหรือโครงการที่กำลังพิจารณาคืนกระทรวงเจ้าสังกัด
สำหรับเงินกู้ฯ 4 แสนล้านบาท สถานะ ณ วันที่ 12 ม.ค.64 มีวงเงินคงเหลือประมาณ 2.6 แสนล้านบาท หากรวมกับมติ ครม.วันที่ 19 ม.ค.64 ที่มีมติให้โยกเงินในส่วนนี้ไปใช้ในโครงการเราชนะ 1 หมื่นล้านบาท จะคงเหลือวงเงิน 2.5 แสนล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นวงเงินที่มีการอนุมัติโครงการไปแล้วประมาณ 1.4 แสนล้านบาท จำนวน 223 โครงการ เบิกจ่ายไปแล้ว 4.2 หมื่นล้านบาทหรือคิดเป็นสัดส่วน 30.24% ของวงเงินอนุมัติ
สำหรับแผนงานที่มีการอนุมัติวงเงินเพื่อใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจมากที่สุดคือแผนงานส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชนอนุมัติวงเงินไปแล้ว 9.42 หมื่นล้านบาท รองลงมาคือในส่วนของแผนงานพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจฯ อนุมัติไปแล้ว 2.94 หมื่นล้านบาท และแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนอนุมัติไปแล้ว 1.57 หมื่นล้านบาท ส่วนแผนงานที่ยังไม่มีการอนุมัติโครงการเลยได้แก่แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
ข้อมูลข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ