รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผลักดันนโยบาย “กัญชา 6 ต้น” และ “กัญชาสร้างเศรษฐกิจชุมชน” เน้นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของกัญชา ทั้งในรูปแบบของผลิตภัณฑ์และการให้บริการด้านสุขภาพ
ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กว่า 1 ปี ในระยะแรกมุ่งเน้นให้ประชาชนเข้าถึงยากัญชาทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน จากสถานพยาบาลใกล้บ้านกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ แพทย์ผู้ใช้มีความมั่นใจในประสิทธิภาพของยากัญชา ดังนั้นการขับเคลื่อนในระยะต่อไป จะเน้นไปที่การพัฒนากัญชาให้มีมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดกัญชาที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมอบหมายให้ “สถาบันกัญชาทางการแพทย์” เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนนโยบายนี้ร่วมกับหน่วยงานทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งขณะนี้มีแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจนอยู่บนพื้นฐานของหลักวิชาการ และประชาชนทุกคนที่ต้องการสร้างรายได้จากกัญชาต้องมีการเสนอแผนธุรกิจให้ชัดเจนและเป็นไปตามกฎหมาย ส่วนนโยบายกัญชา 6 ต้น ต้องดำเนินการต่อ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการใช้กัญชาเพื่อดูแลสุขภาพตนเอง
“การดำเนินงานในเฟสที่ 2 ต่อจากนี้ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพองค์รวมของประเทศ เพราะในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ กระทรวงสาธารณสุข ต้องมีส่วนร่วมกับรัฐบาลในการช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่พี่น้องประชาชน พร้อมสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนในทุกช่องทาง นับเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไปด้วยเช่นกัน” ดร.ภก.อนันต์ชัย กล่าว
ด้านนพ.กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันกัญชาทางการแพทย์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถาบันกัญชาทางการแพทย์ขับเคลื่อนนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข ผ่าน 3 กลไกหลัก คือ การปรับข้อกำหนดและกฎระเบียบให้เอื้อต่อการดำเนินงาน (Regulation) การศึกษาวิจัย (Research) และการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้อง (Education) เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุตามเป้าหมาย โดยจะร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เปิดรับฟังข้อคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อนำมาปรับข้อกำหนดและกฎระเบียบต่าง ๆให้เอื้อต่อการพัฒนากัญชาในบริบทของประเทศไทยมากยิ่งขึ้น
โดยได้จัดทำแผนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ เป็น 2 ระดับ คือ ระดับครัวเรือน เน้นการลดรายจ่ายด้านการรักษาจากการใช้กัญชาเพื่อดูแลสุขภาพตนเอง และในระดับประเทศ ที่จะผลักดันให้มีการเชื่อมต่อต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ของผลิตภัณฑ์กัญชาที่จะจำหน่ายและส่งออกต่างประเทศ รวมถึงการบริการสุขภาพ (Wellness) จากกัญชา ซึ่งแผนปฏิบัติการเร่งด่วนนี้ เตรียมเสนอต่อรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขภายในเดือนพฤศจิกายน เมื่อได้รับการเห็นชอบจะดำเนินการได้ทันที
“ท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและท่านปลัดกระทรวงฯ มอบนโยบายให้การพัฒนากัญชาเป็นเป้าหมายสำคัญเพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ คู่ขนานไปพร้อมๆการพัฒนาสมุนไพรอื่นๆ เพื่อให้เกิดความหลากหลายและตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกให้มากที่สุด ซึ่งการดำเนินงานต่อจากนี้ประชาชนคนไทยจะต้องได้รับประโยชน์สูงสุดทั้งในด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ”นพ.กิตติ กล่าวในท้ายที่สุด
ที่มา : กระทรวงสาธารณสุข