วันนี้ (25 เมษายน 2564) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นำโดยอาจารย์ นายแพทย์พงษ์วริษฐ์ จันทรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนาม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตรวจดูความพร้อมพื้นที่บริเวณหอพักนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (เขตพื้นที่ในเมือง) เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งเป็นโรงพยาบาลสนาม รองรับผู้ป่วยที่ผ่านกระบวนตรวจการทางการแพทย์มาก่อนแล้ว จากโรงพยาบาลสุทธาเวช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งในวันนี้ได้ติดตั้งอุปกรณ์ที่จำเป็นทางการแพทย์ให้พร้อมใช้เรียบร้อยแล้ว สามารถรับผู้ป่วยได้ตั้งแต่วันที่26 เมษายน 2564 เป็นต้นไป
นายแพทย์พงษ์วริษฐ์ จันทรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนาม มหาวิทยาลัยมหาสารคามกล่าวว่า โรงพยาบาลสนาม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดตั้งขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 รองรับเฉพาะผู้ป่วยที่ส่งต่อมาจากโรงพยาบาลที่ได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้นแล้ว ที่มีความเสี่ยงต่ำ ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีการรักษาอย่างต่อเนื่อง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หรือคนไข้ที่มีน้ำหนักเกิน เพื่อมาสังเกตุอาการภายในโรงพยาบาลสนาม และอยู่ระหว่างการกักตัว มีการปิดกั้นให้เป็นสถานที่ปลอดเชื้อตามมาตรฐานสากล โดยใช้หอพักปฐมเวศน์(ชาย) จำนวน 64 เตียง และหอชัยพฤกษ์(หญิง) จำนวน 64 เตียง ซึ่งเป็นหอพักนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีความเหมาะสมต่อการจัดพื้นที่รองรับมาตรฐาน เป็นโรงพยาบาลสนามชั่วคราว จำนวน 128 เตียงและใช้หอพักการเวก จำนวน 20 ห้อง เป็นสถานที่พักอาศัยของบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลสุทธาเวช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยทางกองอาคารสถานที่ได้ทำความสะอาดบริเวณภายในหอพักและบริเวณโดยรอบหอพักดังกล่าวให้พร้อมใช้แล้วเช่นกัน
การเข้าพักรักษาในโรงพยาบาลสนาม ไม่อนุญาตให้มีผู้เข้าเยี่ยม ขอให้สื่อสารผ่านโทรศัพท์หรือระบบสื่อสารออนไลน์ หากญาติต้องการฝากอาหารหรือของใช้ โปรดนำมาฝากที่สำนักงานโรงพยาบาลสนาม (ควรเป็นอาหารที่ไม่ใช่ของหมัก ดอง ไม่เผ็ดจัด และไม่มีกลิ่นรุนแรง) ไม่ควรนำของมีค่าหรือสวมใส่เครื่องประดับติดตัวมาด้วย ทางโรงพยาบาลสนามไม่รับฝากของมีค่า และไม่สามารถรับผิดชอบหากสูญหาย ผู้เข้ารักษาควรรับประทานอาหารและยา ที่ได้รับตามเวลาทุกมื้อ พร้อมทั้งวัดอุณภูมิ สัญญาณชีพ และออกซิเจน เวลา 06.00 น. และ 18.00น. แล้วรายงานผลผ่านแอปพลิเคชั่น Line ทุกวัน มีแพทย์และพยาบาล คอยติดตามอาการตลอด 24 ชั่วโมง
การพักรักษาตัวเป็นเวลา 10 วัน ควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่เข้าพัก ไม่อนุญาตให้ออกนอกบริเวณอาคารโรงพยาบาลสนาม ทางโรงพยาบาลสนามได้จัดเตรียมเจลล้างมือ น้ำยาฆ่าเชื้อ และอุปกรณ์ทำความสะอาดไว้ให้ โปรดทำความสะอาดห้องพักให้สะอาดอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง โรงพยาบาลสนามจะเตรียมอาหารให้ที่จุดบริการ ชั้น 1 เวลา 08.00 น. ,12.00 น.และเวลา18.00 น. ส่วนน้ำดื่มได้แยกไว้ในห้องพักอย่างเพียงพอตลอดการรักษาตัว โปรดทำความสะอาดอุปกรณ์ ของใช้ส่วนกลาง ทั้งก่อน และหลังการใช้งาน พร้อมจัดเก็บเข้าที่ จัดเก็บขยะของเหลือใช้ทิ้งในถุงขยะติดเชื้อ มัดปากถุงให้มิดชิด แล้วนำส่งวันละ 1 ครั้ง ที่จุดบริการชั้น 1 เวลา 14.00 น. มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลความสะอาดในส่วนกลางวันละ 1 ครั้ง มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและมีกล้องวงจรปิดส่วนกลาง ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับการเตรียมความพร้อมก่อนไปโรงพยาบาลสนาม ต้องเตรียมบัตรประชาชนมาด้วย หากมียารักษาโรคประจำตัว กรุณาเตรียมมาให้พอสำหรับ 10 วัน โปรดสวมเสื้อที่ไม่มี ตะขอ กระดุม ซิป ทั้งเสื้อตัวนอก และชุดชั้นใน(สำหรับสตรี) หากไว้เล็บยาวควรตัดเล็บนิ้วชี้ให้สั้นเพื่อใช้วัดระดับออกซิเจนได้สะดวก ควรสวมหน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1 เมตร จนกว่ารถโรงพยาบาลสนามไปรับ
สิ่งของที่เตรียมมาโรงพยาบาลสนาม เตรียมเสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัวให้เพียงพอสำหรับ 10 วัน เช่น สบู่ ยาสีฟัน น้ำยาสระผม ผ้าเช็ดตัว กระดาษชำระ ไม้แขวนเสื้อ อุปกรณ์ซักล้าง ผ้าอนามัย(สำหรับสตรี) แก้วน้ำ ช้อน ส้อม จาน และชาม ตลอดจนอุปกรณ์สื่อสาร ที่ชาร์ต และปลั๊กราง
อย่างไรก็ตาม ทางโรงพยาบาลสุทธาเวช ยังคงขอรับบริจาควัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น ทั้งหน้ากากอนามัย ถุงมือ ชุด ppe ของใช้จำเป็นอีกหลายรายการที่สามารถประสานร่วมบริจาคได้ และขอขอบคุณทุกท่านที่ได้เสียสละช่วยกันร่วมแก้วิกฤตที่เกิดขึ้น ด้วยศักยภาพที่มีขณะนี้ยังมั่นใจว่า โรงพยาบาลสุทธาเวช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สามารถควบคุมสถานการณ์ได้แม้จะมีผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มทุกวันในระยะนี้ แต่ก็เป็นกลุ่มเสี่ยงที่เป็นผลจากการดำเนินการตามมาตรการเชิงรุกอยู่แล้ว ที่สำคัญขอให้ทุกคนให้ความร่วมมือและอย่าประมาทติดต่อสอบถามเพิ่มเติม หรือประสานงานเพื่อบริจาคสิ่งของให้โรงพยาบาลสนามได้ที่ โทรศัพท์ 062-282-9522 / ภายใน 7715
ภาพ : อภิราม ทามแก้วข่าว : อภิราม ทามแก้ว/บุณฑริกา ภูผาหลวง