กบง. มีมติเห็นชอบ มาตรการช่วยเหลือประชาชนในระยะเร่งด่วน ลดค่าไฟฟ้าตามมาตรการเดิมที่เคยดำเนินการในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. 64 มาเพิ่มเติม ในรอบบิลเดือน พ.ค.-มิ.ย. 64 ให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน พร้อมแนวทางการบริหารจัดการกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) ของประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์
วันที่ 14 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) 64) ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้พิจารณาเห็นว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ดังนั้น เพื่อลดกระทบต่อภาระค่าไฟฟ้าของประชาชน กบง. จึงได้เห็นชอบ มาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระลอกเดือนเมษายน 2564 ให้เป็นไปอย่างครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็กทั่วประเทศ ให้ได้รับการช่วยเหลือตามหลักการเดียวกันกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาประเด็นสำคัญ ดังนี้
ที่ประชุม กบง. เห็นชอบ มาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระลอกเดือนเมษายน 2564 ตามที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เสนอ เพื่อเป็นไปอย่างครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็กทั่วประเทศ ให้ได้รับการช่วยเหลือตามหลักการเดียวกันกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยให้ครอบคลุมลูกค้ารายย่อยของ กฟผ. และผู้ใช้ไฟฟ้าของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการกองทัพเรือเพิ่มเติม เพื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศ อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม เป็นระยะเวลา 2 เดือน (เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2564) วงเงินประมาณ 15.04 ล้านบาท ทั้งนี้ ส่วนลดดังกล่าวจะทำให้เงินเรียกคืนฐานะการเงินจากการไฟฟ้าซึ่งมีรายได้มากกว่าที่ควรได้รับในปี 2564 มีจำนวนลดลง
นอกจากนี้ กบง. รับทราบ มาตรการช่วยเหลือด้านพลังงานไฟฟ้าสำหรับประชาชน สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าของ กฟน. และ กฟภ. ตามหลักการที่ ครม. ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา เป็นระยะเวลา 2 เดือน (เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2564) ในวงเงินประมาณ 8,755 ล้านบาท อีกทั้งยังรับทราบแนวทางของ กกพ. ในการยกเว้นการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ (Minimum Charge) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 3-7 โดยให้ผู้ใช้ไฟฟ้าจ่ายค่าไฟฟ้าตามจริง เป็นระยะเวลา 2 เดือน (เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2564) โดยให้ กกพ. พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งนี้ กบง. รับทราบ แนวทางการบริหารจัดการกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) ของประเทศ ตามข้อเสนอของ คณะทำงานบริหารจัดการกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศ และได้มอบหมายให้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) และ กฟผ. ร่วมกันพิจารณาทบทวนสมมติฐานการกำหนดค่ากำลังผลิตพึ่งได้ (Dependable Capacity) ของโรงไฟฟ้าของ กฟผ. และพิจารณาทบทวนเกณฑ์ Reserve Margin
โดยพิจารณาจากโอกาสเกิดไฟฟ้าดับที่เหมาะสมในภาพรวมทั้งประเทศและแยกตามรายพื้นที่ และมอบหมายให้ สำนักงาน กกพ. พิจารณาออกแบบสัญญาในการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนให้เหมาะสมกับโรงไฟฟ้าแต่ละประเภทและการรับซื้อไฟฟ้าจริงของระบบ รวมถึง ปรับปรุงกฎระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มีความเหมาะสมและยืดหยุ่น สอดคล้องกับเทคโนโลยี นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้ สนพ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ฉบับใหม่ โดยให้คำนึงถึงการวางแผนจัดหาโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้ารายภูมิภาค การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าในช่วงความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ให้กระจายออกไปในช่วงอื่น ๆ ของวัน เพื่อลดการจัดหา/สร้างโรงไฟฟ้า การวางแผนและดำเนินการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้สามารถรองรับพลังงานทดแทนที่จะเข้ามาในระบบไฟฟ้ามากขึ้นในอนาคต เป็นต้น
นอกจากนี้ กบง. ยังได้มีมติเห็นชอบ ร่างกฎกระทรวงเครื่องจักรอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุอุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 5 ฉบับ (5 ผลิตภัณฑ์) ได้แก่
1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดปั๊มความร้อนแบบดึงความร้อนจากอากาศถ่ายเทให้แก่น้ำที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. ….
2.ร่างกฎกระทรวงกำหนดฟิล์มติดกระจกเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. ….
3.ร่างกฎกระทรวงกำหนดฉนวนอุตสาหกรรมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. ….
4.ร่างกฎกระทรวงกำหนดเตารังสีอินฟราเรดที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. …. และ
5.ร่างกฎกระทรวงกำหนดพัดลมอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. ….
โดยร่างกฎกระทรวงฯ ข้างต้น จะเป็นมาตรฐานอ้างอิงสำหรับผู้ผลิตและผู้จำหน่ายเครื่องจักร วัสดุและอุปกรณ์ จะมีสิทธิได้รับการส่งเสริมมาตรการการติดฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง ซึ่งจะนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
ข้อมูลข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ